เช็กก่อน “ยื่นภาษี” ผิด สินค้าไหนไม่ต้องนำมารวมคำนวณฐาน “ภาษีมูลค่าเพิ่ม”

เช็กก่อน “ยื่นภาษี” ผิด สินค้าไหนไม่ต้องนำมารวมคำนวณฐาน “ภาษีมูลค่าเพิ่ม”



ตามหลักการแล้วเมื่อเจ้าของกิจการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีรายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการ จะต้องนำรายได้ดังกล่าวมาคำนวณรวมเป็นมูลค่าของฐานภาษี เพื่อคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่กิจการต้องชำระในแต่ละเดือน

แต่ทุกคนรู้หรือไม่ว่า! มีรายการขาย หรือการแจกสินค้า ที่เป็นค่าตอบแทนที่กิจการได้รับในลักษณะใดบ้าง ที่กิจการไม่ต้องนำมาคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประกาศเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) 

เพื่อไม่ให้คิดภาษีมูลค่าเพิ่มผิดพลาด และต้องจ่ายภาษีมากกว่าที่ควรจะเป็น เราไปดูเช็กลิสต์รายการสินค้าแบบไหนบ้างที่ไม่ต้องนำมาคำนวณฐานภาษีกันค่ะ

1. สินค้าที่แถมพร้อมกับการขายสินค้าหรือการให้บริการ ถึงแม้จะเป็นสินค้าประเภท และชนิดเดียวกันกับสินค้าที่ขายหรือให้บริการ รวมถึงเป็นสินค้าชนิดอื่น ที่มีมูลค่าไม่เกินสินค้าที่ขายหรือให้บริการ ไม่ต้องนำมาคำนวณมูลค่าของฐานภาษี

2. สินค้าที่แจกหรือให้เป็นรางวัลกับผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการที่ซื้อสินค้า หรือรับบริการในแต่ละวัน รวมกันตามที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนกำหนด และต้องมีมูลค่าไม่เกินมูลค่าของสินค้าที่ขาย หรือให้บริการสินค้าดังกล่าวไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี

3. รายได้จากการให้บริการที่เป็นนายหน้าตัวแทนให้แก่ผู้ประกอบการในต่างประเทศ เฉพาะในกรณีที่ผู้ประกอบการในต่างประเทศขายสินค้าหรือให้บริการกับผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการในต่างประเทศด้วยกัน(สินค้าไม่ได้ถูกส่งเข้ามาในประเทศไทยเลย)

4. สินค้าที่ผู้ประกอบการในเขตปลอดอากรได้ขายให้กับผู้ซื้อสินค้าในไทย โดยผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้นำเข้าตามมาตรา 77/1(11) ได้ยื่นพิธีการนำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรเมื่อนำสินค้านั้นออกจากเขตปลอดอากรแล้ว

5. สินค้าที่ผู้ประกอบการในเขตปลอดอากรได้ขายให้แก่ผู้ประกอบการที่จดทะเบียน โดยผู้ประกอบการในเขตปลอดอากรเป็นผู้นำเข้าได้ยื่นพิธีการนำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรเมื่อนำสินค้านั้นออกจากเขตปลอดอากรแล้ว

และผู้ซื้อสินค้าไม่ใช่ผู้ประกอบการในเขตปลอดอากร หรือคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

6. สินค้าที่แจกหรือให้เป็นของขวัญ เนื่องในพิธีหรือตามโอกาสตามประเพณี เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ การเปิดแนะนำสินค้า และเฉพาะที่เป็นปฏิทิน Diary สินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกับของขวัญ หรือของชำร่วยที่มีชื่อผู้ประกอบการ ชื่อการค้า หรือเครื่องหมายการค้าของผู้ประกอบการปรากฏอยู่ 

โดยของขวัญหรือของชำร่วยต้องเป็นสิ่งของที่พึงให้แก่กันตามประเพณีทางธุรกิจทั่วไป และต้องมีราคาหรือมูลค่าเหมาะสม ไม่สูงเกินสมควร

7. สินค้าตัวอย่างที่แจกในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ไม่นำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี

8. อาหารและเครื่องดื่มที่นายจ้างจัดหาให้กับพนักงานหรือลูกจ้างในระหว่างเวลาปฏิบัติงาน ตามระเบียบเกี่ยวกับสวัสดิการของพนักงานหรือลูกจ้าง โดยมูลค่าของอาหารและเครื่องดื่มต้องมีราคาไม่สูงเกินไป 

9. สินค้าที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้ขายให้แก่ผู้ซื้อ ซึ่งสินค้านั้นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายได้นำเข้าจากต่างประเทศ และได้โอนสินค้าให้ผู้ซื้อ ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าต่อเจ้าพนักงานศุลกากร ณ ด่านศุลกากร เพื่อชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานศุลกากรแล้ว

โดยผู้ประกอบการที่ขายสินค้า จะต้องมีสำเนาใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากรที่ออกให้ผู้ซื้อ พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

10. ค่าเครื่องแบบที่นายจ้างได้มอบให้แก่ลูกจ้าง ในจำนวนคนละไม่เกินสองชุดต่อปี และเสื้อนอกจำนวนคนละไม่เกินหนึ่งตัวต่อปี

​- เครื่องแบบ หมายถึงเครื่องแต่งกายรวมทั้งสิ่งประกอบเครื่องแต่งกาย ที่กำหนดให้แต่งเพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน แต่ไม่รวมถึงรองเท้าที่อาจใช้งานได้ทั่วไป ชุดชั้นใน หรือสิ่งประกอบเครื่องแต่งกายที่ทำด้วยโลหะหรืออัญมณีมีค่า

​- เสื้อนอก รวมถึงชุดไทยพระราชทาน และเสื้อที่นิยมใช้ในการแต่งกายไปในงานสำคัญต่างๆ

11. ค่าตอบแทนที่พึงได้รับจากการมอบสินค้าให้ผู้ซื้อสินค้าทดสอบใช้งานก่อนซื้อ โดยสินค้าไม่ใช่ของใช้สิ้นเปลือง และต้องเป็นสินค้าที่มีไว้สำหรับให้ทดลองใช้เป็นการชั่วคราว เพื่อทดลองคุณภาพหรือประสิทธิภาพของสินค้าเท่านั้น ผู้ซื้อสินค้าจะต้องส่งมอบสินค้าคืนให้ผู้ขายเมื่อทดลองใช้เสร็จสิ้น

12. สินค้าหรือบริการที่ได้ขายหรือให้บริการแก่ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการ ซึ่งเป็นผู้ทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับองค์กรร่วมไทย-มาเลเซียตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย และเป็นผู้ขายสินค้าหรือให้บริการซึ่งทำสัญญาเป็นหนังสือโดยตรงกับผู้ทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย

โดยผู้ประกอบการจดทะเบียน ต้องทำสัญญากับผู้ซื้อหรือผู้รับบริการเป็นหนังสือ และต้องจัดทำรายงานตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนด

13. สลากวินโต๊ดและเปร๊สโต๊ดที่ผู้ประกอบการสนามแข่งม้าขายให้แก่ผู้เล่นพนันแข่งม้า เป็นจำนวนเท่ากับจำนวนเงินรางวัลที่จะต้องจ่ายคืนให้แก่ผู้เล่นพนันแข่งม้า

14. ทองรูปพรรณที่ขายเป็นจำนวนเท่ากับราคาทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศรับซื้อคืนในวันที่ขายทองรูปพรรณ ซึ่งเฉพาะผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการขายทองรูปพรรณที่มีใบอนุญาตค้าของเก่าตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ทองรูปพรรณจะต้องเป็นทองคำที่ทำสำเร็จเป็นเครื่องประดับกาย เครื่องแต่งกาย ของชำร่วย หรือสิ่งของต่างๆ ที่มีไว้เพื่อโชว์ โดยไม่มีอัญมณีประกอบอยู่ รวมถึงนากที่สมาคมคำนวณราคารับซื้อคืนได้ตามส่วนของราคาทองรูปพรรณ

15. ทรัพย์สินหรือสินค้าที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนบริจาค ให้แก่ส่วนราชการตามโครงการของทางราชการตามโครงการของทางราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติในลักษณะทำนองเดียวกัน

16. ทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้บริจาค ให้แก่ส่วนราชการตามโครงการของทางราชการ เพื่อให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือสถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน

17. การให้บริการผลิตรถยนต์ต้นแบบ หรือรถจักรยานยนต์ต้นแบบ ที่ใช้เพื่อการวิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะ ที่ได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิต ซึ่งผลิตให้แก่ผู้วิจัย พัฒนา หรือทดสอบสมรรถนะยานยนต์ที่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพสามิต

18. การให้บริการไฟฟ้าที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ให้บริการไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ซึ่งติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 5(15) แอมแปร์ โดยใช้ไฟฟ้าไม่เกินจำนวนหน่วยที่กำหนดตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่ชาติ รวมถึงเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการพลังงาน (สำหรับมูลค่าของการให้บริการไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2559 เป็นต้นไป)



สามารถอ่านบทความน่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี่ คลิ๊ก!!



บทความโดย : 
LINK

 286
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

บัญชีที่ทำกันโดยทั่วไป ได้แก่ บัญชีเงินเดือน (payroll) การออกใบกำกับสินค้า (invoice) บัญชีลูกหนี้ (account receivable) การรับเงิน (cash receipts) บัญชีเจ้าหนี้ (account payable) การพิมพ์เช็คและหักบัญชี (check writing and reconciliation) เป็นต้น
การเริ่มต้นจัดทำบัญชีของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน และบริษัทจำกัดนั้น จะต้องเริ่มจากตรงไหนก่อน และทำอะไรบ้าง เป็นคำถามที่หลายท่านสงสัย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ หรือแม้แต่กระทั่งนักบัญชีมือใหม่เอง
หากเราเลือกวิธีการประหยัดภาษีต่างๆ ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อาจทำให้เกิดอันตรายต่อฐานะการเงินของเราได้ กรมสรรพากรจะตรวจสอบว่า วิธีการที่เราใช้นั้นมันผิดกฎหมายจนทำให้ชำระภาษีขาดไป อาจจะเป็นเรื่องใหญ่แน่
ผู้ประกอบการที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว นอกจากจะมีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อหรือผู้รับบริการพร้อมออกใบกำกับภาษีเป็นหลักฐาน ยังต้องจัดทำรายงานภาษีซื้อและภาษีขายด้วย เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างไร 
ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงสำหรับการรับรู้รายได้สำหรับมาตรฐานการบัญชี ตามที่สภาวิชาชีพบัญชีได้ออกประกาศสภาวิชาชีพบัญชีที่ 6/2561 เรื่อง มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 15 เรื่อง รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า ซึ่งมีการบังคับใช้มาระยะหนึ่งแล้วตั้งแต่ต้นปี 2562 ที่ผ่านมา

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์