ภาษีครึ่งปี คำนวณอย่างไร

ภาษีครึ่งปี คำนวณอย่างไร



เจ้าของกิจการย่อมต้องทราบดีว่านิติบุคคลมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลปีละ 2 ครั้ง คือ รอบครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) และรอบสิ้นปี (ภ.ง.ด. 50)  ยกเว้นเฉพาะนิติบุคคลจะไม่ต้องยื่นภาษีเงินได้รอบครึ่งปีก็ต่อเมื่อเริ่มประกอบกิจการเป็นปีแรก หรือ ยกเลิกกิจการ ซึ่งทำให้มีรอบระยะเวลาบัญชีไม่ครบ 12 เดือน

ทั้งนี้สำหรับเจ้าของธุรกิจมือใหม่ อาจมีคำถามสำหรับการคำนวณภาษีครึ่งปีเพื่อการคำนวณกำไรสุทธิ สำหรับการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบครึ่งปีนั้นมีความแตกต่างจากการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีรอบสิ้นปี เนื่องจากกำไรสุทธิที่นำมาคำนวณภาษีรอบครึ่งปีไม่ใช่กำไรสุทธิที่เกิดขึ้นจริงแต่เป็นการ “ประมาณการกำไรสุทธิ” ของกิจการโดยกิจการจะต้องประมาณการกำไรสุทธิทั้งปี และเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล รอบครึ่งปีโดยคำนวณจากครึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิทั้งปี

ตรงนี้ SME มือใหม่อาจจะสับสนกันว่าจะประเมินกำไรเท่าไหร่ดี ขอยกตัวอย่างดังนี้  เช่น บริษัท A ประมาณการว่าปีนี้ทั้งปีจะมีกำไรสุทธิ 4,000,000 บาท ภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบครึ่งปีของ บริษัท A จะคำนวณได้จาก ครึ่งหนึ่งของ ประมาณการกำไรสุทธิทั้งปี คือ 2,000,000 บาท คูณกับอัตราภาษีที่กฎหมายกำหนด คือ ร้อยละ 20 ดังนั้น บริษัท A จึงต้องยื่นเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบ ครึ่งปีเป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท(ยังไม่รวมการลดหย่อนอื่นๆ)

เกิดอะไรขึ้นหากประมาณการกำไรสุทธิไว้ต่ำเกินไป

ในกรณีนี้หากเจ้าของธุรกิจประมาณการกำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีขาดไปเกินร้อยละ 25 โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ชำระขาดไปตอนรอบครึ่งปี  แต่ยังไม่ต้องตกใจไป เพราะตรงนี้กำไรสุทธิอาจคลาดเคลื่อนไปอย่างมากจากที่ประมาณไว้ ด้วยเหตุสภาพแวดล้อมทางธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นกรมสรรพากรจึงได้มีการอนุโลมให้ บริษัทที่ได้ยื่นเสียภาษีรอบครึ่งปี ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ยื่นไว้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้วให้ถือว่าการประมาณการดังกล่าวมีเหตุอันสมควรไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม

ยกตัวอย่างกรณีนี้ เช่น บริษัท A ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.51) โดยประมาณการกำไรสุทธิทั้งปีไว้ จำนวน 4,000,000 บาท แต่ปรากฏว่าเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี บริษัทมีกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ จำนวน 6,000,000 บาท บริษัทแสดงประมาณการกำไรสุทธิทั้งปีตามแบบ ภ.ง.ด. 51 ต่ำกว่ากำไร สุทธิจริงที่ได้ ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีไปจำนวน 2,000,000 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ซึ่งถือว่าบริษัทได้ประมาณการขาดไปเกินกว่าร้อย ละ 25 ของกำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.50 ดังนั้นบริษัท A จะต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 20 ของภาษีที่ได้ชำระไว้ขาดไป ซึ่งคำนวณได้ดังนี้

  1. 1. กำไรสุทธิตาม ภ.ง.ด.50 = 6,000,000 บาท กึ่งหนึ่งของกำไรสุทธิของ บริษัท = 3,000,000 บาท
  2. คำนวณภาษีเงินได้ นิติบุคคลตามอัตราที่กฎหมายกำหนด รวมภาษีที่ คำนวณได้ = 3,000,000x20% = 600,000 บาท
  3. ดังนั้นภาษีที่ยื่นขาดไปจำนวน (600,000 – 400,000) = 200,000 บาท มีผลให้บริษัทต้องเสียเงินเพิ่ม 20 % ของภาษีที่ชำระขาดไป = (200,000x 20%) คือ = 40,000 บาท

อย่างไรก็ตาม หากรอบบัญชีก่อนหน้า บริษัท A  มีกำไรสุทธิ 3,000,000 บาท กึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิในปีนี้คือ 2,000,000 บาท ก็จะมากกว่ากึ่งหนึ่งของกำไรสุทธิในรอบบัญชีก่อนหน้า ดังนั้นบริษัท A จึงไม่ต้องเสียค่าปรับแต่อย่างใด  

 

สามารถอ่านบทความน่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี่ คลิ๊ก!!



อ้างอิง : กรมสรรพากร 

 408
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

การวิเคราะห์งบกระแสเงินสด เป็นหนึ่งในเครื่องมือในการวิเคราะห์งบการเงินที่น่าสนใจอีกวิธีหนึ่ง นอกเหนือจากการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน หรือว่าการวิเคราะห์งบโดยวิธีแนวนอน วิธีแนวโน้ม  วิธีแนวตั้ง หรือวิเคราะห์ร้อยละของยอดรวม หลายๆ คนคงคุ้นเคยกับการวิเคราะห์งบกำไรขาดทุน และงบแสดงฐานะทางการเงินมาบ้างแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่า หนึ่งในวิธีวิเคราะห์งบการเงินที่มีประโยชน์มากอีกวิธีหนึ่งก็คือ การวิเคราะห์กระแสเงินสด
จุดคุ้มทุนมีความสำคัญในการตัดสินใจกำหนดราคาขาย และปริมาณสินค้าที่จะขาย โดยการคำนวณจะต้องคำนวณทีละหนึ่งผลิตภัณฑ์ หากมีผลิตภัณฑ์หลายตัวก็คำนวณหลายครั้งโดยอย่าลืมที่จะจัดสรรค่าใช้จ่ายของผลิตภัณฑ์แต่ละตัวด้วยเพื่อไม่ให้มีค่าใช้จ่ายคงที่สูงเกินไป การคำนวณต้องใช้ปัจจัยเหล่านี้คือ
มาดูกันนะคะว่า ในการประกอบธุรกิจ จะมีประเด็นความเสี่ยงและแนวทางการป้องกันอะไรบ้างที่เจ้าของธุรกิจควรระวัง เพื่อไม่ให้เกิดกับธุรกิจตัวเองค่ะ
มรรยาท (จรรยาบรรณ) ของ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต กฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในพระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี พ.ศ.2505 ได้กำหนดมรรยาทของผู้สอบบัญชี ไว้ 5 หมวด คือ รายละเอียดข้อกำหนดและคำชี้แจง แต่ละหมวด มีดังต่อไปนี้
การเปิดสำนักงานบัญชีถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เป็นที่ผู้ทำงานในวิชาชีพบัญชีหลายๆ ท่านกำลังให้ความสนใจ เพราะธุรกิจนี้เริ่มได้ง่ายๆ ทำเงินได้สม่ำเสมอ และที่สำคัญ Demand ความต้องการของผู้ทำบัญชีนั้นนับวันก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ตามจำนวนนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย 

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์