Q :
ผมได้อ่านข่าวเกี่ยวกับการออกหนังสือรับรองการเป็นพนักงาน ของบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งทำเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ โดยคนที่ถูกออกหนังสือรับรองก็ไม่ได้เป็นพนักงานของบริษัทนั้น แต่เจ้าของบริษัททำให้เพราะเกรงใจผู้ใหญ่ แล้วปรากฎภายหลังว่า ผู้หญิงคนนั้นได้ถูกบังคับให้ไปค้าประเวณีที่ออสเตรเลีย ทำให้เจ้าของบริษัทเจอตำรวจจับข้อหาค้ามนุษย์ ผมมาคิดๆดู บริษัทผมมีสาวๆสวยๆแยะ แล้วก็มีตังค์ไปเที่ยวต่างประเทศกันพอสมควร อย่างนี้ เพื่อป้องกันปัญหาเอาไว้ก่อน ผมสามารถจะไม่ออกหนังสือรับรองเงินเดือนหรือสถานภาพพนักงานได้หรือไม่ หรือจะป้องกันโอกาสที่จะเกิดเรื่องอย่างที่เป็นข่าวได้อย่างไรบ้างครับ - นพดล
A :
คุณนพดลเป็นคนช่างคิดนะครับ แต่ผมคิดว่า กรณีนี้อย่าไปคิดมากจนเกิดการวิตกจริต แล้วไปกำหนดแนวปฏิบัติที่จะสร้างปัญหาให้กับพนักงานดีกว่านะครับ เพราะกรณีที่เขามีเรื่องนั้น มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอย่างหนึ่งก็คือ เขาไปออกหนังสือรับรองให้กับคนที่ไม่ได้เป็นพนักงานบริษัท ซึ่งมันผิดตั้งแต่ต้นแล้วละครับ อย่างน้อยเรื่องของการออกเอกสารปลอมให้กับทางราชการ เลยทำให้ต้องสงสัยเพราะมันมีพิรุธ แม้เจ้าตัวจะออกตัวว่า ทำไปแค่ครั้งเดียวก็ตาม แต่หากคุณนพดลทำไปตามปกติ ก็ไม่เห็นมีอะไรต้องกังวล เพราะเรามีความบริสุทธิ์ใจ
อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในแง่กฎหมายอย่างเดียว การที่คุณนพดลไม่ออกหนังสือรับรองสถานภาพการเป็นพนักงานก็ย่อมทำได้ เพราะกฎหมายบอกให้ต้องออกหนังสือรับรองเฉพาะการพ้นสภาพพนักงานแล้วเท่านั้น ซึ่งตรงนี้หลายคนไม่ทราบ ผมเองก็ยังเคยมีพรรคพวกถามอยู่ออกบ่อยว่า เพิ่งเลิกจ้างพนักงานไปด้วยความผิดร้ายแรง จะไม่ออกหนังสือรับรองให้ได้หรือไม่ ซึ่งหลายคนคิดว่า ไม่ออกให้ก็ได้ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดอย่างมาก กฎหมายบังคับให้เราต้องออกหนังสือรับรองให้กับพนักงานที่พ้นสภาพไปแล้วในทุก กรณี ต่างจากกรณีการออกหนังสือรับรองสถานภาพพนักงาน กฎหมายไม่ได้ระบุเอาไว้ว่าต้องทำ เรามีสิทธิไม่ทำก็ได้ แต่ว่าในทางแรงงานสัมพันธ์หรือบรรยากาศของการอยู่ร่วมกันไม่น่าจะดี ลองคิดภาพดูซิครับว่า อยู่ๆก็มีประกาศออกมาจากบริษัทว่า บริษัทงดการออกหนังสือรับรองด้วยเหตุว่า ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์กลัวติดคุก ผมว่ามันจะไปกันใหญ่นะครับ
แต่ถ้าหากจะหาทาง ป้องกันเอาไว้เพื่อความสบายใจ ผมเสนอว่า ก็ใช้แนวทางของการบริหารและควบคุมในกระบวนการของเราเอง ด้วยวิธีการอย่างเป็นต้นว่า
1. กำหนดให้มีการกรอกแบบยื่นคำขออย่างชัดเจนว่า ขอไปเพื่อวัตถุประสงค์อะไร จะใช้เมื่อไหร่ อาจจะกำหนดจำนวนว่า ขอได้ครั้งละไม่เกิดกี่ใบเอาไว้ด้วยก็ได้
2. ในการจัดทำหนังสือรับรอง ก็ให้ระบุลงไปให้ชัดว่า ออกไปเพื่ออะไร
3. มีการกำหนดลงไปในหนังสือด้วยว่า หนังสือรับรองนี้ จะใช้ได้ถึงเมื่อไหร่ ซึ่งผมคิดว่า ไม่ควรเกินสองสัปดาห์หลังจากวันที่หนังสือออก เดี๋ยวจะเกิดการหลุดดออกไป แล้วแปลงปลอมกันได้ ผมคิดว่าด้วยแนวทางที่ว่านี้ก่าจะทำให้เห็นเจตนาที่ชัดเจน และป้องกันผู้ออกหนังสือได้ หากเกิดจับพลัดจับผลูมีพนักงานเราไปแอบหนีวิซ่าแล้วไปทำงานอย่างว่า คุณนพดลก็สามารถชี้ได้ว่า เรามีความรอบคอบรัดกุมอย่างไร การที่พนักงานคนนั้นไปทำอะไรอย่างนั้น ก็ถือเป็นเรื่องเฉพาะตัวของเขาไป
คงจะทำให้สบายใจขึ้นแล้วนะครับ
ที่มา : www.manager.co.th