ความสำเร็จในชีวิต หลายคนเชื่อว่าผู้ประกอบการสามารถสอนกันได้ แต่ในความเป็นจริงการเรียนการสอนในระบบปัจจุบันได้ทำลายความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเป็น ผู้ประกอบการไปเสียแล้ว ดังนั้นจึงพบว่าบ่อยครั้งที่มีผู้ต้องการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurs) เป็นจำนวนมาก แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร และควรจะทำอะไร นอกจากนี้หากผู้ที่ต้องการเป็น ผู้ประกอบการ ผ่านการทำงานยาวนานมาหลายปีและมีเหตุต้องออกจากงาน ก็เป็นสิ่งยากยิ่งนักที่จะเริ่มต้นกับการเป็นผู้ประกอบการใหม่
อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้น ถือเป็นก้าวแรกของความสำเร็จ หากไม่คิดที่จะเริ่มต้นจึงยากที่จะรู้จักความสำเร็จ ซึ่งอาจจะต้องผ่านความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า ผ่านความผิดหวังหลายต่อหลายหน แต่ทว่า การเป็นผู้ประกอบการที่ดีและประสบความสำเร็จ จะมีลักษณะร่วมที่เหมือน ๆ กันหลายประการ โดยลักษณะร่วมของผู้ประกอบการที่ดีนี้ ได้แก่
1. กระหายสู่ความสำเร็จ (Need for Achievement)
ผู้ประกอบการต้องมีคาวามรู้สึกต้องการอย่างแรงกล้าในการทำธุรกิจ หรือต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ เนื่องจากหากไม่มีความต้องการนี้ ก็จะไม่มีพลังผลักดันให้ผู้ประกอบการลุกขึ้นมาดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย โดยความต้องการนี้สังเกตได้อย่างชัดเจนว่าจะไม่เหมือนกับความต้องการของคนธรรมดาทั่วไป ทั้งความต้องการด้านทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ หรือเรียกได้ว่า มีความทะเยอทะยานในระดับสูง
เหตุที่ต้องมีความต้องการอย่างแรงกล้านี้ เป็นเพราะว่าการเป็นผู้ประกอบการนั้นต้องผ่านความยากลำบากในการดำเนินงานจำนวนมาก และอุปสรรคที่หนักหนาสาหัสแทบทั้งสิ้น ซึ่งถ้าไม่มีความต้องการอย่างแรงกล้านี้ที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตของการเป็นผู้ประกอบการแล้วนั้นการทุ่มเทอย่างแรงกล้าในการทำธุรกิจก็จะไม่เกิดขึ้น ธุรกิจก็จะไม่ประสบความสำเร็จ ที่สำคัญการสร้างธุรกิจให้เกิดขึ้นได้ดีก็คือ ควรสร้างธุรกิจนั้นขึ้นมาจากใจ ซึ่งมันสามารถสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะนิสัยใจคอ รวมไปถึงอารมณ์ที่แสดงออกของตัวผู้ประกอบการเอง
เมื่อมองเห็นโอกาสในความเป็นไปได้ และพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว ผู้ประกอบการก็จะทุ่มเททั้งแรงกาย แรงใจ ความสามารถทั้งหมดให้กับการทำธุรกิจ โดยไม่คิดถึงความยากลำบากถึงแม้บนเส้นทางในการทำธุรกิจจะไม่ราบรื่นอย่างที่คิดก็ตาม แต่ด้วยสายเลือดของการเป็นผู้ประกอบการที่ต้องการความสำเร็จแล้วเขาจะพยายามจนสามารถฟันผ่าอุปสรรคความยากลำบากที่เกิดขึ้นและเกิดการเรียนรู้ถึงข้อผิดพลาดจากการทำงานที่ผ่านมา โดยนำข้อผิดพลาดเหล่านั้นมาเป็นประสบการณ์เพื่อนำไปแก้ไขใหม่ให้ถูกต้องเพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จที่มั่นคง
2. มีลักษณะนิสัยชอบเสี่ยง (Risk Taking)
หลายคนเชื่อว่าการเป็นผู้ประกอบการนั้นจะพบกับความเสี่ยงสูงอยู่เสมอจึงทำให้หลายคนท้อตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มต้น หรือล้มเลิกโครงการในการทำธุรกิจตนเองแล้วกลับไปเป็นลูกจ้างต่อก็มี ความเชื่อเช่นนี้อาจไม่ใช่ความเป็นจริงนัก เนื่องจาก 2 ใน 3 ของผู้ที่ต้องการทำธุรกิจของตัวเอง มักจะมีงานประจำหรืองานพาร์ทไทม์อยู่ก่อนแล้วหรือมีธุรกิจอย่างอื่นอยู่ พวกเขาจะไม่ทุ่มเท ทรัพยากรทั้งหมดมาทำธุรกิจของตนเองจนกว่าจะมีความพร้อม หรือตัดสินใจแล้วว่า เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าแล้วถ้าทำเช่นนั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะมีความสามารพิเศษในการประเมินความเสี่ยงตั้งแต่ก่อนจะเริ่มดำเนินการ พวกเขาจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อที่จัดความเสี่ยงในการประกอบการให้ได้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วจึงค่อยตัดสินใจดำเนินการ เพราะพวกเขารู้ดีว่า ถ้าตัดสินใจอะไรผิดพลาดไป ถือเป็นการเสี่ยงสูงในการส่งผลให้ธุรกิจหยุดชะงัก
ดังนั้น เมื่อพวกเขาได้ประเมินสถนการณ์ที่จะเกิดขึ้นในการดำเนินธุรกิจของเขาแล้ว ก็จะลงมือกระทำโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสี่ยงที่น้อยลง แต่ทั้งนี้จะเห็นว่าความเสี่ยงก็ยังมีอยู่ จึงต้องดำเนินไปควบคู่กับความไม่ประมาท ถ้าต้องเสี่ยงอีก ก็ควรหยุดคิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
กล่าวคือ ผู้ประกอบการจะรู้ดีกว่า “ธุรกิจ” กับ “ความเสี่ยง” เป็นของที่ควบคู่กัน และจะทราบดีว่าควรจะเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน เพราะการที่มีความเสี่ยงในการทำธุรกิจน้อยเกินไปหรือต่ำเกิน 50% ก็ไม่สามารถเป็นผู้ประกอบการที่ดีได้ ยังคงต้องรับสภาพการเป็นลูกจ้างหรือเรียกกันว่ามนุษย์เงินเดือนต่อไป แต่ทั้งนี้การมีความเสี่ยงเกิน 80-90% ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะอาจผิดพลาดได้ ทางที่ดีผู้ประกอบการที่ต้องการความสำเร็จควรมีความเสี่ยงอยู่ในระดับปานกลาง คือมีโอกาสประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ความเสี่ยงระดับนี้จะไม่เกินความสามารถของผู้ประกอบการที่จะทำให้บรรลุผลสำเร็จ หากได้มีการวางแผนการทำงานที่ถูกต้องและประเมินความเป็นไปได้แล้ว
3. คิดอย่างสร้างสรรค์ และ สร้างฝันให้ยิ่งใหญ่ (To Walk again)
อีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ ของผู้ประการที่ดีต้องมี นั่นก็คือ การมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ หรือมีจิตนาการที่ไม่เหมือนคนอื่น ซึ่งความคิดสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จนั้น ต้องเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่อยู่ในกรอบที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงด้วย
พวกเขามีความสามารถในการเสาะหาโอกาส จากความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่ซึ่งบุคคลอื่นมองไม่เห็น สามารถนำจิตนาการมาแปลงเป็นความจริงได้ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องที่หลายคนคาดไม่ถึงก็ตาม
คุณลักษณะที่โดดเด่นของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จประเภทที่เหนือจากบุคคลทั่วไปอีกอย่างคือ การมองบางสิ่งบางอย่างด้วยสัมผัสที่ยิ่งใหญ่ มีแนวคิดมีความฝันในการประกอบธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ สามารถมองจากจุดเล็กๆ แล้วสานฝันให้สามารถขยายเป็นกิจการใหญ่โตได้(คือเริ่มจากก้าวเล็กแล้วค่อยใหญ่ขึ้น)ในขณะที่บุคคลทั่วไปจะมองเพียงบางส่วนเท่านั้น
การมองภาพที่ยิ่งใหญ่นี้ นักวิชาการเชื่อว่า เกิดจากกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจโดยการพิจารณารายละเอียดอย่างรอบคอบที่ทำให้ผู้ประกอบการเห็นภาพของธุรกิจอย่างชัดเจน มองเห็นจุดเริ่มต้น และจุดสิ้นสุดหลังจากนั้นจึงเกิดการสร้างกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่ ในการเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ
นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากการที่มีความกล้าเสี่ยงที่จะลงทุนในธุรกิจ ที่คำนวณแล้ว่าจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ดังนั้นเมื่อคิดใหญ่ มองภาพใหญ่แล้ว ผลตอบแทนก็จะมากไปด้วย
4. ยึดมั่นไม่ย่อท้อ
คุณสมบัติประการนี้เกิดขึ้นเพราะผู้ประกอบการทุกคนมักจะประสบความรู้สึกร่วมกันก็คือการเผชิญกับอุปสรรคนานาประการ ที่ถาโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จคือ บุคคลที่ไม่ล้มเลิกอะไรง่าย ๆ และทุกคนล้วนเคยล้มเหลวมาก่อน หรือผิดพลาดมาแล้วทั้งนั้น แต่ความผิดพลาดหรือความล้มเหลวดังกล่าวไม่ได้ทำให้เป้าหมายของผู้ประกอบการเปลี่ยนแปลงไป หากพวกเขาเชื่อว่า ความล้มเหลวหลายต่อหลายครั้งที่เกิดขึ้น เปรียบเสมือนบันไดที่จะทำให้พวกเขาก้าวไปสู่จุดที่สูงที่สุดได้มากขึ้นต่างหาก และวันหนึ่งเมื่อความสำเร็จที่แท้จริงมาเยือน พวกเขาก็จะชื่นชมมันอย่างเต็มที่ส่วนผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ ไม่เคยล้มเหลวมาก่อนนั้น สิ่งที่พวกเขาได้รับก็คือ การได้เรียนรู้ประสบการณ์ในการดำเนินชีวิต และการบริหารธุรกิจที่เพิ่มมาขึ้น พวกเขารู้ว่าความยากลำบากในงานเปรียบเสมือนเครื่องนุ่งห่มของความสำเร็จ ยิ่งประสบความยากลำบากมากเพียงใด เสื้อผ้าที่สวมใส่ก็ยิ่งดูมีราคามากขึ้นเท่านั้น พวกเขารู้ว่ายิ่งผ่านประสบการณ์แห่งความล้มเหลวมากครั้งเท่าใด บันไดแห่งความสำเร็จก็ยิ่งทอดสูงขึ้นเท่านั้นและจุดสูงสุดของบันได ล้วนเป็นสถานที่ซึ่งน่าพิชิตยิ่งนัก เพียงแต่ว่า ในห้วงเวลาดังกล่าวก่อนที่จะผ่านพ้นประสบการณ์มาได้หลายคนล้วนเจ็บปวดทั้งสิ้น
ผู้ที่แข็งแกร่งเท่านั้นจึงจะเป็นผู้อยู่รอด
5. เชื่อมั่นในตนเอง
คุณสมบัติประการสำคัญอีกประการหนึ่งของการเป็นผู้ประกอบคือการมีความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง และแนวคิดในการทำเนินธุรกิจของตัวเอง แม้ว่าในระหว่างของการก่อร่างสร้างตัวนั้น บุคคลรอบข้างไม่ว่าจะเป็น ญาติสนิท เพื่อนฝูง นายธนาคาร หรือกระทั่งคู่ชีวิต จะไม่เชื่อมั่นในผู้ประกอบการคนนั้นก็ตาม ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ จะต้องมีความเชื่อมั่นว่า เขาสามารถทำได้สำเร็จในงานอะไรก็ตามที่เขาตั้งใจหรือกำหนดไว้ว่าจะทำ
ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการนี้ บางทีก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง หากเกิดขึ้นมาจากการสมสมประสบการณ์อันยาวนานของตัวผู้ประกอบการเอง ผู้ประกอบการใหม่บางครั้งได้รับประสบการณ์ต่าง ๆ จากการทำงานที่ตนได้ทำระหว่างประกอบอาชีพอยู่ บางรายได้รับหลักการทำงานในองค์กรเดิมที่ได้ทำอยู่กับบุคคลอื่นมาก่อน ประสบการเหล่านั้นบางครั้งได้รับมาเพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้ในความเป็นจริงเพราะยังขาดหลักการในการบริหารองค์กรที่ถูกต้องและผู้ประกอบการยังขาดความเชื่อมั่นเมื่อนำวิธีการเหล่านั้นมาปฏิบัติจริง
หลายคนเชื่อว่า วิธีสร้างความเชื่อมั่นโดยเรียนรู้จากการทำงานที่อื่นมาก่อนนั้นเป็นต้นทุนในการประกอบธุรกิจที่ราคาต่ำสุดและเปรียบเสมือนการเรียนทางลัด ทั้งยังได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าที่สุดในการประกอบธุรกิจ(สำหรับหนังสือบางเล่มก็เป็นโค้ตได้เช่นกัน) ในขณะที่บางคนมีจุดเริ่มต้นในการเป็นผู้ประกอบการมาจากศูนย์ ไม่มีแม้แต่เงินทอง ทรัพย์สิน เพื่อนฝูง หรือความรู้หรือเรียกได้ว่าไม่มีอะไรเลยนอกจากความเชื่อมั่น คิดเพียงแต่ว่าความเชื่อมั่นสามารถสร้างธุรกิจที่ตนรักและต้องการให้เกิดขึ้นได้ จึงเริ่มทำงานตามสิ่งที่ตนเองเชื่อ แล้วก็ฝ่าฟันไปยังเป้าหมายที่ต้องการจนได้
6. มีความสามารถในการตัดสินใจ
หลายคนเชื่อว่า บุคคลคนหนึ่งมีความสามารถแตกต่างไปจากบุคคลอื่นนั้นส่วนหนึ่งมาจากความสามารถในการตัดสินใจของแต่ละบุคคลไม่เทียมกัน และผู้ประกอบการก็เป็นบุคคลหนึ่งที่มีความสามารถในการตัดสินใจที่แตกต่างและโดดเด่นจากบุคคลอื่น สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าในตัวผู้ประกอบการทุกคนจะมีสัญชาติญาณหนึ่งที่บ่งบอกว่าเมื่อใดควรตัดสินใจและเมื่อใดไม่ควรตัดสินใจโดยเฉพาะการตัดสินใจในภาวะวิกฤติว่าควรจะดำเนินการอย่างไรกับธุรกิจหรือในชีวิตของตนเองแต่อย่างไรก็ตาม หากศึกษาให้ดีแล้วจะพบว่า กระบวนการของการตัดสินใจของผู้ประกอบการล้วนผ่านการกลั่นกรองด้วยดีมาแล้วสิ้นเชิงเป็นผลมาจากการสั่งสมประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตที่ผ่านมาและการตรวจสอบจากสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นนั่นเอง
ผู้ประกอบการที่ดีส่วนใหญ่เชื่อว่า ความสำเร็จหรือความล้มเหลวที่เกิดขึ้น ล้วนมาจากการตัดสินใจของตนเอง ผลของการตัดสินใจ แม้ว่าจะผิดหรือจะถูกก็เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการทุกคนยอมรับได้ ถ้าผิดก็ถือเป็นการเรียนรู้ที่จะช่วยให้ตนเองได้ก้าวสูงขึ้นพร้อมกับการสร้างอนาคตที่มั่นคงแต่ถ้าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้วก็ถือว่าเป็นการสร้างความมั่นใจให้เกิดเพิ่มขึ้น
ในทางตรงกันข้าม ก็ยังมีบุคคลบางส่วนที่เชื่อในเกือบทุกเรื่อง ยกเว้นตัวเอง พวกนี้มักเชื่อโชคชะตา เชื่อในสภาพเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมภายนอก มองว่าปัจจัยภายนอกเป็นตัวกำหนดความสำเร็จ หรือเรียกได้ว่าถูกปัจจัยภายนอกครอบงำอยู่ ซึ่งคนเหล่านี้ส่วนใหญ่มักไม่ประสบความสำเร็จในฐานะของการเป็นผู้ประกอบการ