ภาษีคริปโท กรมสรรพากร แจงวิธีการ-รายละเอียด นักลงทุนต้องรู้!

ภาษีคริปโท กรมสรรพากร แจงวิธีการ-รายละเอียด นักลงทุนต้องรู้!


วันที่ 6 มกราคม 2565 นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี (กลุ่มธุรกิจพลังงาน) ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า การคำนวณกำไรจากคริปโทเคอร์เรนซี หรือสินทรัพย์ดิจิทัล คิดเป็น transaction หรือต่อธุรกรรม ส่วนจะทราบได้อย่างไรว่าจะมีกำไรจากคริปโทเคอร์เรนซีมากรอกแบบแสดงเงินได้ภาษีบุคคลธรรมดานั้น

มองว่าส่วนใหญ่ผู้ลงทุนก็จะทราบว่ามีกำไรเท่าไหร่ แต่ถ้าไม่ได้จดรายการไว้ ก็ต้องดูว่ามีเงินที่เข้ามาในบัญชี มีกำไรจำนวนเท่าไหร่ โดยการกรอกเงินได้ในส่วนนี้ไม่ได้กรอกแยกแต่ละรายการ แต่ให้สรุปรวมทั้งปี แล้วไปยื่นแบบใน ภ.ง.ด.90 เลย

“กำไรจากการขายคริปโทเคอร์เรนซี เป็นเงินได้ตามประเภทที่ 4 จากทั้งหมด 8 ประเภท ดังนั้น ในการยื่นแบบแสดงเงินได้ภาษีบุคคลธรรมดา ก็จะมีช่องให้กรอก ดังนั้น มองว่าผู้ลงทุนน่าจะทราบอยู่ว่ามีเงินได้เท่าไหร่ ซึ่งเป็นการประเมินตัวเอง จึงแนะนำว่าให้กลับไปดูรายการเดินบัญชี (Statement) ต่าง ๆ ที่มีเงินเข้าบัญชีมา ว่าเรามีกำไรจากการเทรดคริปโทเคอร์เรนซีจำนวนเท่าไหร่ ประเมินตนเองเอาเฉพาะส่วนที่เป็นกำไร ส่วนที่ขาดทุนไม่ต้องนำมาคำนวณ”

สำหรับการคำนวณนั้น กรณีทีไม่มีการเอาเงินออกมาจากพอร์ต หรือมีกำไรที่เกิดขึ้นจาก Exchange เอง แล้วก็ไปซื้อเหรียญต่อ มีกำไร แต่ยังไม่ได้เอาเงินออกมาเข้าบัญชี จะนับเป็นเงินได้ที่เป็นกำไร เพื่อนำมายื่นแบบเสียภาษีหรือไม่นั้น นางสมหมายกล่าวว่า ต้องเรียนว่า การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเงินสด คือ ได้รับเมื่อไหร่จะถือว่าเป็นเงินได้ในปีที่ได้รับ

เช่น เมื่อเทรดแล้ว เงินยังอยู่ในพอร์ตก็ถือว่าเราขายแล้ว เงินเราได้รับตามเกณฑ์เงินสดแล้ว ซึ่งการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใช้เกณฑ์เงินสดในการคำนวณภาษีเงินได้ ซึ่งแม้จะไม่ได้เอาเงินออกมาก็ถือว่าเป็นกำไรและต้องยื่นภาษีเงินได้

เช่น ต้นทุนเรา 100,000 บาท แล้วขายได้ 150,000 บาท ซึ่งได้กำไร 50,000 บาท ก็เอากำไรมาจดเอาไว้ในแต่ละเดือน เมื่อสิ้นปีก็รวบรวมเฉพาะกำไรที่ได้รับ แล้วนำมายื่นแบบ

ส่วนกรณีขายทำกำไรได้ 50,000 บาท จากต้นทุน 100,000 บาท รวมเป็น 150,000 บาท และยังไม่ได้เอาออกมาจากพอร์ต แล้วนำเงิน 150,000 บาท ไปซื้อเหรียญอื่น แล้วขาดทุนส่วนนี้จะนำมาชดเชยได้หรือไม่นั้น ส่วนนี้ไม่ต้องนำมานับ ฉะนั้น หากทั้งปี ในปี 2564 มีการเทรด 2 ครั้ง เงินได้ที่นำมาคิดก็คือ จำนวน 50,000 บาท ส่วนที่ขาดทุนนำมาหักลบกันไม่ได้ เนื่องจากเป็นการคิดต่อธุรกรรม

ทั้งนี้ หลักปฏิบัติในการยื่นแบบนั้น ไม่ได้มีการแนบหลักฐานการมีรายได้ สามารถกรอกรายละเอียดเป็นตัวเลขได้เลย ว่ามีกำไรจากการเทรดจำนวนเท่าไหร่ และหากต่อไปมีการตรวจสอบจะทำอย่างไรนั้น แนะนำว่าให้แคปหน้าจอ หรือหลักฐานรายการเดินบัญชีย้อนหลังเก็บไว้ เพื่อเก็บไว้แสดงหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่

สามารถอ่านบทความน่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี่ คลิ๊ก!


แหล่งที่มา : Link

 382
ผู้เข้าชม

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์