การจัดทำกระดาษทำการสำหรับผู้สอบบัญชี

การจัดทำกระดาษทำการสำหรับผู้สอบบัญชี

กระดาษทำการคืออะไร

หลักฐานที่แสดงถึงการปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชี  หลักฐานที่ได้รับจากการปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชี และสิ่งที่ตรวจพบจากการตรวจสอบของผู้สอบบัญชีภาษีอากร  ซึ่งได้แก่ เอกสารที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรได้จัดทำขึ้นเอง  เอกสารที่ได้รับมาจากกิจการที่ทำการตรวจสอบ  หรือที่ขอจากบุคคลภายนอกกิจการ ทั้งนี้ เพื่อใช้ในการจัดทำรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชี

การจัดทำกระดาษทำการ

กระดาษทำการไม่มีขอบเขต รูปแบบ และเนื้อหาที่แน่นอนขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และเนื้อหาในเรื่องที่ตรวจสอบ   ดังนั้น จึงเป็นเรื่องของการใช้ดุลยพินิจเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพของผู้สอบบัญชีภาษีอากรเอง  แต่อย่างไรก็ตาม ขอบเขต รูปแบบ และเนื้อหาของกระดาษทำการควรมีลักษณะดังต่อไปนี้

1. ขอบเขตของกระดาษทำการ

การกำหนดขอบเขตของกระดาษทำการ ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องพิจารณาถึงธุรกิจที่ตรวจสอบและมาตรฐานการปฏิบัติงานที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด โดยจะต้องรวบรวมสิ่งที่มีความจำเป็นและเหมาะสมในการตรวจสอบบันทึกไว้ในกระดาษทำการ

2. รูปแบบและเนื้อหาของกระดาษทำการ

รูปแบบและเนื้อหาของกระดาษทำการ ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องออกแบบ และจัดทำกระดาษทำการให้เหมาะสมกับสถานการณ์และความต้องการของตนในการตรวจสอบเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการตรวจสอบและรับรองบัญชีของแต่ละกิจการ  ซึ่งผู้สอบบัญชีภาษีอากรอาจใช้กระดาษทำการที่แต่ละสำนักงานจัดทำไว้เป็นรูปแบบมาตรฐานก็ได้

ความแตกต่างของรูปแบบ และเนื้อหาของกระดาษทำการที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากร ต้องจัดทำนั้น ขึ้นอยู่กับ ลักษณะและความซับซ้อนของธุรกิจ ลักษณะและสภาพของระบบบัญชีและระบบการควบคุมภายในของกิจการ การใช้กระดาษทำการเพื่อประโยชน์ในการสั่งการ การควบคุมดูแล และ การสอบทานงานที่ปฏิบัติโดยผู้ช่วยผู้สอบบัญชีภาษีอากร

3. สาระสำคัญที่ควรปรากฏในกระดาษทำการ

3.1 กระดาษทำการควรแสดงให้เห็นว่าผู้สอบบัญชีภาษีอากรได้จัดทำแนวทางการสอบบัญชีอย่างระมัดระวังและรอบคอบ  และได้ควบคุมการปฏิบัติงานของผู้ช่วยผู้สอบบัญชีภาษีอากร (ถ้ามี) โดยใกล้ชิด

3.2 กระดาษทำการต้องแสดงให้เห็นว่า ข้อมูลและตัวเลขในงบการเงินที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรรับรองถูกต้องตรงตามบันทึกและหลักฐานทางการบัญชีของกิจการที่ตรวจสอบ

3.3 กระดาษทำการต้องแสดงให้เห็นว่าผู้สอบบัญชีภาษีอากรและผู้ช่วยผู้สอบบัญชีภาษีอากร ได้ปฏิบัติงานตรวจสอบตามแนวทางการสอบบัญชีที่ได้กำหนดขึ้นโดยถูกต้องและครบถ้วน

3.4 กระดาษทำการต้องแสดงข้อมูลที่ได้จากการปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชี  โดยจะต้องแสดงถึงการทดสอบความถูกต้องของรายการบัญชี  การตรวจสอบความถูกต้องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญทางด้านภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร  การปรับปรุงกำไรสุทธิ/ขาดทุนสุทธิทางบัญชีเป็นกำไรสุทธิ/ขาดทุนสุทธิทางภาษี  และการตรวจสอบรายการในแบบแจ้งข้อความตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50)   รวมถึงการแจ้งปริมาณและขอบเขตการตรวจสอบแต่ละด้านในกรณีที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรมิได้กำหนดไว้ในแนวทางการสอบบัญชี

3.5 กระดาษทำการต้องแสดงผลการตรวจสอบในแต่ละเรื่อง  รวมถึงข้อบกพร่องหรือสิ่งผิดปกติอันมีสาระสำคัญที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรได้ตรวจพบ การวินิจฉัยและข้อสรุปเกี่ยวกับข้อบกพร่องหรือสิ่งผิดปกติที่ตรวจพบ คำชี้แจงของผู้บริหารของกิจการในเรื่องดังกล่าว และข้อเสนอแนะที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรได้ให้แก่กิจการ  ตลอดจนการแก้ไขข้อบกพร่องหรือสิ่งปกตินั้นว่าได้ดำเนินการแล้วหรือไม่อย่างไร

4. การใช้เครื่องหมายการตรวจสอบ

เครื่องหมายการตรวจสอบ หมายถึง สัญลักษณ์ที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรกำหนดขึ้นเอง โดยเครื่องหมายดังกล่าวจะมีรูปร่างและความหมายที่ต่างกัน ซึ่งรูปแบบของสัญญลักษณ์จะไม่มีรูปแบบที่แน่นอน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะกำหนด

การใช้ครื่องหมายการตรวจสอบ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้สอบบัญชีภาษีอากรได้ตรวจสอบข้อมูลในกระดาษทำการด้วยวิธีการตรวจสอบใด ดังนั้น ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องใส่เครื่องหมายการตรวจสอบกำกับรายการที่ทำการตรวจสอบและอธิบายความหมายของเครื่องหมายการตรวจสอบนั้นไว้ในกระดาษทำการด้วย และเพื่อสะดวกในการสอบทานการตรวจสอบ เครื่องหมายการตรวจสอบจึงควรแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดด้วยการใช้ดินสอสีต่าง ๆ ทำเครื่องหมาย

5. ข้อปฏิบัติในการจัดทำกระดาษทำการ

5.1 จัดทำสารบาญกระดาษทำการที่แสดงถึงเรื่องต่าง ๆ ที่อยู่ในกระดาษทำการ เพื่อให้เห็นโครงสร้างของกระดาษทำการทั้งหมด

5.2 กำหนดรหัสอ้างอิงของกระดาษทำการ เพื่อใช้ในการอ้างอิงระหว่างกระดาษทำการที่เกี่ยวข้องกัน

5.3 ในกรณีที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรได้หลักฐานจากการสอบถามจากบุคลากรของกิจการ  ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องระบุชื่อของบุคลากรพร้อมตำแหน่งงาน เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิงในภายหลัง

5.4 กระดาษทำการเป็นหลักฐานที่แสดงถึงการปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชี หลักฐานที่ได้รับจากการปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชี และสิ่งที่ตรวจพบจากการตรวจสอบของผู้สอบบัญชีภาษีอากร ดังนั้น ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องเก็บรักษากระดาษทำการให้ปลอดภัยจากการถูกแก้ไข สูญหาย หรือการนำข้อมูลที่อาจเป็นความลับของกิจการไปเปิดเผยต่อบุคคลอื่น

กรรมสิทธิ์ของกระดาษทำการ

กระดาษทำการถือเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้สอบบัญชีภาษีอากร ซึ่งผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องนำมาส่งมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบการปฏิบัติงานของกรมสรรพากร เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับการปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชีของตน


ที่มา : กรมสรรพากร

 716
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

เชื่อว่ามีหลายคนเลยทีเดียวที่คิดว่า ภาษีที่ดินกับภาษีบำรุงท้องที่เป็นภาษีชนิดเดียวกัน เพียงแต่มีคนเรียกให้ต่างกันเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาษีทั้งสองชนิดแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และด้วยความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนไปนี้เอง ทำให้หลายคนไม่รู้ว่าตนเองต้องจ่ายภาษีอะไรกันแน่ ยิ่งถ้าหากเป็นเจ้าของที่ดิน นายหน้า และเหล่านักอสังหาริมทรัพย์ ยิ่งต้องแยกให้ออกว่า ระหว่างภาษีทั้งสองประเภทต่างกันอย่างไร ที่สำคัญคือ ภาษีเหล่านี้ใน พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่
เปลี่ยนสำนักงานบัญชี เมื่อกิจการต้องการเปลี่ยนสำนักงานบัญชี หลักๆต้องขอ 3 กลุ่มดังนี้
กระดาษทำการ (Work Sheet) หมายถึง แบบฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลที่จำเป็นในการจัดทำงบการเงินมาไว้ที่เดียวกันกระดาษทำการเป็นเครื่องมือสำคัญในการปรับปรุงรายการตอนสิ้นงวดก่อนปิดบัญชีดังนั้นกระดาษทำการจะจัดทำขึ้นภายหลังที่ได้จดบันทึกรายการต่าง ๆ ของธุรกิจในบัญชีครบถ้วนแล้วแต่ยังไม่ได้ลงรายการปรับปรุงและปิดบัญชี
ผู้ใช้ข้อมูลทางการบัญชีมีหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารกิจการ เจ้าหนี้ นักลงทุน หน่วยงานของรัฐบาล หรืออื่น ๆ ซึ่งในบางครั้งบุคคลที่ใช้ข้อมูลทางการบัญชีเหล่านี้มีความต้องการที่จะใช้ข้อมูลทางการบัญชีในทิศทางที่แตกต่างกัน เช่น ผู้บริหารต้องการแสดงผลการดำเนินงานที่มีกำไรน้อยกว่าความเป็นจริงหรือขาดทุน เพื่อที่จะได้เสียภาษีน้อยลง หรือไม่เสียภาษีเลย ในทางตรงกันข้ามกรมสรรพากรซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีก็ต้องการให้แสดงข้อมูลตามความเป็นจริง เพื่อจะได้จัดเก็บภาษีได้อย่างถูกต้อง รัฐบาลจะได้นำเงินมาพัฒนาประเทศต่อไป
เมื่อกล่าวถึงการเช่าทรัพย์หรือสัญญาเช่าทรัพย์แล้ว ท่านผู้อ่านหลายท่านที่คลุกคลีอยู่กับวงการภาษีอากรคงจะคุ้นเคยกันเป็นประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากรอย่างดีทั้งนี้ ก็เนื่องมาจากประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากรนั้นมีหลากหลายมากมายจนอาจกล่าวได้ว่าจำกันไม่ไหวเลยทีเดียว อย่างไรก็ดีไม่ว่าประเด็นปัญหาดังกล่าวกรมสรรพากรจะได้มีการวางแนววินิจฉัยไว้แล้วเพียงใดก็ตาม แต่ก็พบว่าผู้ที่เกี่ยวข้องก็ยังคงประสบกับปัญหาต่างๆ กันอยู่ไม่น้อย อาจเนื่องมาจากยังขาดความรู้ความเข้าใจในทางปฏิบัติเกี่ยวกับเอกเทศสัญญาเกี่ยวกับเช่าทรัพย์ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรืออาจมีความเข้าใจในประเด็นปัญหาภาษีอากรที่คลาดเคลื่อนไปรวมทั้งในทางปฏิบัติมีการใช้คำว่า “เช่า” ให้ครอบคลุมไปถึงธุรกรรมอื่นที่ไม่ใช่ “เช่า” ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น การเช่าพระเครื่อง การเช่าชั่วโมงอินเทอร์เน็ต การเช่าพื้นที่เพื่อแสดงสินค้าในงานแสดงสินค้าต่างๆ เป็นผลทำให้ความเข้าใจในเรื่องของภาษีอากรเกี่ยวกับเอกเทศสัญญาที่เรียกว่า “เช่าทรัพย์” นั้นคลาดเคลื่อนไปด้วย ผู้เขียนจึงได้รวบรวมเอาเรื่องราวอันเกี่ยวกับการเช่าทรัพย์ ทั้งในด้านความเป็นเอกเทศสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และในด้านของภาษีอากร ไม่ว่าจะเป็นกรณีการมีรายได้จากการให้เช่าทรัพย์ว่าจะต้องมีภาระภาษีอะไรบ้าง เช่น จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างไร ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ และสัญญาเช้าที่ทำกันนั้นต้องติดอากรแสตมป์อย่างไรหรือไม่ รวมทั้งกรณีที่ผู้เช่าได้จ่ายค่าเช่าไปในบางกรณีว่าจะลงเป็นรายจ่ายทางภาษี หรือนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้น (ถ้ามี) ไปใช้ได้หรือไม่อย่างไร
e-Withholding Tax (e-WHT) หรือภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นบริการที่กรมสรรพากรพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มความสะดวกลดขั้นตอนให้แก่ผู้ที่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายทำการนำส่งเงินภาษีต่อกรมสรรพากร โดยมีธนาคารเป็นตัวกลางในการนำส่งข้อมูลและส่งเงินภาษีให้กับกรมสรรพากร โดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องจัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ดังนั้น ประโยชน์ที่เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยก็คือ

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์