เงินเดือนกรรมการ บริษัทจ่ายเงินให้ในรูปแบบใดได้บ้าง?

เงินเดือนกรรมการ บริษัทจ่ายเงินให้ในรูปแบบใดได้บ้าง?

เมื่อมีการจดจัดตั้งบริษัท (รวมถึงห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) แต่ในที่นี้ขอใช้เพียงคำว่าบริษัท เพื่อความเข้าใจง่ายนะคะ) ไม่ใช่ว่าเจ้าของจะคิดว่าเงินของบริษัทเป็นของตนเองแล้วจะเอาเงินออกจากบริษิทได้ตามอำเภอใจ

เนื่องจากในทางกฎหมาย เจ้าของ(บุคคลธรรมดา) และ บริษัท(นิติบุคคล) เป็นคนละคนกัน  การที่เจ้าของจะนำเงินออกจากบริษัทได้จึงจะต้องมีที่มีที่ไปชัดเจน ว่าเป็นการจ่ายค่าอะไร เพื่อประโยชน์อะไรแก่บริษัท

วันนี้เราจะมาดูกันว่าเจ้าของจะสามารถนำเงินออกจากบริษัทได้โดยทางใดบ้าง และแต่ละทางมีข้อดี-ข้อเสียทางภาษีที่แตกต่างกันอย่างไร

1. เงินเดือนกรรมการ ค่าตอบแทนกรรมการ

คำถามยอดฮิตที่ผู้ประกอบการมักสงสัยคือ เจ้าของบริษัทสามารถจ่ายเงินเดือนให้ตัวเองได้มั้ย? 

คำตอบคือ ได้ เพราะตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น บริษัทและเจ้าของเป็นคนละบุคคลกันตามกฎหมาย ดังนั้นเมื่อเจ้าของทำงานให้กับบริษัท บริษัทจึงควรจ่ายค่าตอบแทนให้กับเจ้าของ

เงินเดือนเจ้าของนี้มักเรียกกันว่า เงินเดือนกรรมการ หรือ ค่าตอบแทนกรรมการ

  • เมื่อบริษัทจ่ายเงินเดือนให้กับเจ้าของ เงินเดือนกรรมการที่จ่ายไปนี้บริษัทสามารถนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้  ทำให้บริษัทเสียภาษีลดลงสูงสุดถึง 20% (ขึ้นกับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัท)
  • และในขณะเดียวกัน เงินเดือนนี้ก็จะเป็นเงินได้ของเจ้าของ ซึ่งเจ้าของจะต้องนำไปรวมคำนวณในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 
  • อย่างไรก็ตามหากมีการวางแผนภาษีที่ดี บริษัทสามารถจ่ายเงินเดือนในจำนวนที่ทำให้เจ้าของไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็เป็นได้

2. ค่าบริการ เช่น ค่าที่ปรึกษา ค่าจ้างทำของ

ไม่จำเป็นว่าเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นทุกคนจะต้องทำงานประจำกับบริษัท

เจ้าของบางคนอาจจะไม่ได้ขายแรงงานให้บริษัท คือไม่ได้ทำงานประจำให้กับบริษัท แต่อาจจะมาช่วยให้คำปรึกษาบริษัทเป็นครั้งคราว หรือรับผิดชอบทำงานบางอย่างให้สำเร็จ  บริษัทก็สามารถจ่ายเงินให้กับเจ้าของในรูปแบบค่าบริการ หรือ ค่าจ้างทำของได้  โดยการจ่ายเงินในรูปของค่าบริการ หรือ ค่าจ้างทำของ จะต้องหัก ณ ที่จ่าย 3%

  • บริษัทสามารถนำค่าบริการนี้ไปเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ตามจำนวนที่จ่าย
  • เจ้าของจะต้องนำค่าบริการที่ได้รับไปรวมคำนวณเป็นเงินได้บุคคลธรรมดาของเจ้าของด้วย

3. ค่าเช่า

หากบริษัทมีการใช้สินทรัพย์ของเจ้าของ เช่น สำนักงาน, รถยนต์, ที่ดิน, โกดัง บริษัทสามารถจ่ายค่าเช่าให้กับเจ้าของเป็นการตอบแทนได้ โดยการจ่ายค่าเช่า จะต้องหัก ณ ที่จ่าย 5% 

  • บริษัทสามารถนำค่าเช่าไปเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ตามจำนวนที่จ่าย ยกเว้นรถยนต์สามารถใช้เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ไม่เกินเดือนละ 36,000บาท  ดังนั้นเพื่อประโยชน์ทางภาษีจึงไม่ควรจ่ายค่าเช่ารถยนต์เกินเดือนละ 36,000บาท
  • เจ้าของจะต้องนำค่าเช่าที่เจ้าของได้รับไปรวมคำนวณเป็นเงินได้บุคคลธรรมดาของเจ้าของด้วย

4. โบนัส

บริษัทสามารถจ่ายโบนัสให้กับเจ้าของในฐานะกรรมการได้

  • บริษัทสามารถนำเงินโบนัสที่จ่ายนี้ไปหักเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้  ทำให้บริษัทเสียภาษีลดลงสูงสุดถึง 20% (ขึ้นกับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัท)
  • เจ้าของจะต้องนำโบนัสไปรวมเป็นเงินได้บุคคลธรรมดาของตนเพื่อเสียภาษี ซึ่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอัตราสูงสุดสูงถึง 35% ดังนั้นในการวางแผนภาษี จึงไม่ใช่ดูแค่ว่าโบนัสช่วยลดภาษีบริษัทอย่างเดียว  แต่ต้องวางแผนภาษีโดยคำนึงถึงภาษีส่วนตัวของเจ้าของด้วย
5. เงินปันผล

หากมีกําไรสะสม บริษัทสามารถจ่ายปันผลให้เจ้าของในฐานะผู้ถือหุ้นบริษัทได้  โดยเงินปันผลจะถูกหัก ณ ที่จ่าย 10%

  • แต่เงินปันผลจะไม่ใช่ค่าใช้จ่ายของบริษัท บริษัทไม่สามารถนำเงินปันผลจ่ายไปลดกำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีได้
  • เจ้าของสามารถเลือกไม่นำเงินปันผลมารวมเป็นเงินได้บุคคลธรรมดาของตนได้ (คือยอมเสียภาษีที่ 10%)  

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก่อนตัดสินใจเลือกวิธีนำเงินออกจากบริษัท

จะเห็นได้ว่าการจ่ายเงินในแต่ละรูปแบบ มีผลทางภาษีหลายแง่มุม หลายมิติที่ต้องพิจารณาใน เช่น

  • อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย
  • ใช้เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีของบริษัทได้หรือไม่  จะช่วยลดภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทได้หรือไม่
  • จะส่งผลให้เจ้าของมีเงินได้เท่าไหร่ และทำให้ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามเจ้าของเท่าไหร่

ดังนั้น เพื่อให้การวางแผนภาษีนั้นครบวงจร เจ้าของบริษัทจึงต้องพิจารณาผลกระทบเหล่านี้ในทุกๆมิติประกอบกัน จะตัดสินใจเพียงการดูแค่มิติใดมิติหนึ่งไม่ได้ ซึ่งสำหรับเจ้าของบริษัทท่านอาจจะไม่คุ้นเคยว่า มีมิติทางบัญชี-ภาษีใดบ้างที่ต้องพิจารณา ดังนั้น จึงขอแนะนำให้ท่านปรึกษานักบัญชีของท่าน ก่อนจะตัดสินใจทำธุรกรรมใด เพื่อให้มั่นใจว่ารูปแบบที่ท่านเลือกเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดกับท่าน



ที่มา : Link

 791
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

สินทรัพย์ในทางบัญชี หมายถึง ทรัพยากรที่มีและอยู่ในการควบคุมของกิจการ สินทรัพย์นี้อาจจะเป็นสิ่งที่มีตัวตนหรือไม่มีตัวตนก็ได้ ซึ่งสามารถตีราคามูลค่าเป็นเงินได้ ทรัพยากรดังกล่าวเป็นผล ของ เหตุการณ์ในอดีต ซึ่งกิจการคาดว่าจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจจากทรัพยากรนั้นในอนาคตเราสามารถ
ในการทำงบการเงินนั้น  นิยมใช้เกณฑ์ในการกำหนดและในแม่บทการบัญชีระบุไว้  2 แบบคือ
การที่จะทำการบันทึกรายการค้าในบัญชีแยกประเภทต่าง ๆ ให้ละเอียดและเป็นระเบียบเรียบร้อยสะดวกแก่การจัดทำรายงานเพื่อประโยชน์ในการอ้างอิงและค้นหาภายหลังนั้น ควรจัดบัญชีต่าง ๆ ให้เป็นหมวดหมู่และกำหนดเลขที่สำหรับหมวดหมู่บัญชีไว้ใน “ผังบัญชี” (Chart of Account)
จากอดีตถึงปัจจุบันปัญหาที่ทุกองค์กรจะพบคือ ‘การทุจริต’ โดยจะมีบุคคลที่ส่อแววว่าจะทำการทุจริตไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ขององค์กรเป็นอย่างมาก ปัญหาทุจริตจึงเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้ามเป็นอันขาด ดังนั้นคุณจำเป็นต้องมีผู้ตรวจสอบระบบภายใน ระบบการเงินอยู่เสมอ เพื่อป้องกันช่องว่างที่จะทำให้บุคคลเหล่านั้นฉวยโอกาส ฉะนั้นเราลองมาดูแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างยั่งยืนและได้ประสิทธิภาพมากที่สุดกันดีกว่า
ตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร หากบุคคลใดมีภาษีอากรค้าง กรมสรรพากรสามารถยึดหรืออายัดทรัพย์และขายทอดตลาดได้เลยโดยยังไม่ต้องฟ้องต่อศาลก่อนก็ได้  และระยะเวลาที่มีอํานาจทําได้ก็เป็นเวลานานถึง 10 ปี

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์