งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น (ส่วนของเจ้าของ) คืออะไร

งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น (ส่วนของเจ้าของ) คืออะไร



ส่วนของเจ้าของ หรือ ส่วนของผู้ถือหุ้น คือ ส่วนของทุนที่เจ้าของนำเงินมาลงทุนในบริษัทประกอบกับกำไรสะสมที่บริษัททำมาหาได้ในแต่ละปีสะสมรวมกัน กลายเป็นส่วนของผู้ถือหุ้นในงบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น

จากสมการบัญชี สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ (ส่วนของผู้ถือหุ้น)
ดังนั้น ส่วนของเจ้าของ (ส่วนของผู้ถือหุ้น) = สินทรัพย์ – หนี้สิน นั่นเอง ในบทความนี้เราจะมาอธิบายกันในเรื่อง งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น

งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น (ส่วนของเจ้าของ) คืออะไร

งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ ส่วนของเจ้าของ คือ งบที่แสดงการกระทบยอดว่าส่วนของผู้ถือหุ้นตั้งแต่ต้นปี ไปจนถึงปลายปีนั้นเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากอะไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ทุนชำระแล้วของบริษัทจะเพิ่มขึ้นด้วยการเพิ่มทุน หรืออาจลดลงจากการลดทุน กำไรสะสมของบริษัทจะเพิ่มขึ้นด้วยกำไรสุทธิ หรืออาจลดลงด้วยการจ่ายเงินปันผล เป็นต้น

โครงสร้างงบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น (ส่วนของเจ้าของ)

สำหรับโครงสร้างงบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น (ส่วนของเจ้าของ) สำหรับงบที่ไม่ได้ซับซ้อนนั้นเป็นดังต่อไปนี้

ตัวอย่างงบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น


โครงสร้างงบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น (ส่วนของเจ้าของ) จะมีการกระทบยอดทั้งทางด้านทุน และกำไรสะสม ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดจากอะไรบ้าง จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่าส่วนของผู้ถือหุ้น ณ วันต้นปีนั้นอยู่ที่ 1,500,000 บาท แต่ปลายปีส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นมาเป็น 2,000,000 บาท จะเห็นได้ว่ายอดส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น 500,000 บาท ซึ่งเราจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่ายอดที่เพิ่มนี้เนื่องจากอะไรบ้างหากไม่ได้อ่านงบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น

ในส่วนของทุนต้นปีมียอด 1,000,000 บาท และในระหว่างปีมีการเพิ่มทุน 400,000 บาท โดยการที่ผู้ถือหุ้นใส่เงินเพิ่มลงมาในบริษัท ดังนั้นทุนปลายปีของบริษัทจึงมียอด 1,400,000 บาท

ในส่วนของกำไรสะสมต้นปีมียอด 500,000 บาท และในระหว่างปีมีกำไรสุทธิ 300,000 บาท จากการดำเนินงานของบริษัท และมีการจ่ายเงินปันผลคืนให้ผู้ถือหุ้นจำนวน 200,000 ดังนั้นกำไรสะสมปลายปีของบริษัทจึงมียอด600,000 บาท (500,000 + 300,000 – 200,000 = 600,000)

ดังนั้นส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทที่เพิ่มขึ้น 500,000 บาท นั้นเกิดจาก การเพิ่มทุน +400,000 บาท กำไรสุทธิ +300,000 บาท เงินปันผลจ่าย -200,000 บาท นั่นเอง

ตัวอย่างในการอ่านและแปลความหมายงบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น

ในบทความนี้จะขอยกตัวอย่างงบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น (ส่วนของเจ้าของ) ของบริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือที่เรารู้จักกันในนาม Banana IT ร้านขายคอมพิวเตอร์ มือถือ แทปเล็ต และอื่นๆ เรามาดูตัวอย่างงบกันดังนี้

งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น


ดาวน์โหลดงบการเงินฉบับเต็มได้ที่นี่

จากงบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น (ส่วนของเจ้าของ) ดังกล่าวจะเห็นได้ว่ายอด ณ ต้นปี 2562 บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นทั้งสิ้น 2,651 ล้านบาท อย่างไรก็ตามส่วนของผู้ถือหุ้นปลายปี 2562 ของบริษัทเพิ่มขึ้นมาประมาณ 431 ล้านบาท เป็น 3,082 ล้านบาท

สำหรับการเปลี่ยนแปลงของส่วนของผู้ถือหุ้น (ส่วนของเจ้าของ) สามารถอธิบายได้ดังนี้

  1. ทุนชำระแล้วของบริษัทนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง โดยยอดต้นปี 2562 อยู่ที่ 300 ล้านบาท และปลายปี 2562 อยู่ที่ 300 ล้านเท่าเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แสดงว่าบริษัทไม่ได้มีการเพิ่มทุน หรือลดทุน ในระหว่างปี
  2. ส่วนเกินมูลค่าหุ้นสามัญไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ส่วนเกินมูลค่าหุ้นจะเกิดขึ้นในกรณีที่บริษัทสามารถขายหุ้นออกไปได้สูงกว่าราคาพาร์ ดังนั้นเงินที่บริษัทได้รับจะมากกว่าราคาพาร์ของหุ้น ดังนั้นส่วนเกินจะถูกนำมาบันทึกในบัญชีนี้ ส่วนเกินมูลค่าหุ้น โดยยอดต้นปี 2562 อยู่ที่ 899 ล้านบาท และปลายปี 2562 อยู่ที่ 899 ล้านเท่าเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แสดงว่าบริษัทไม่ได้มีการขายหุ้นเพิ่ม หรือเพิ่มทุนในระหว่างปี ซึ่งสอดคล้องกับบัญชีทุนชำระแล้วที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง
  3. กำไรสะสมจัดสรรแล้ว – ทุนสำรองตามกฎหมาย ตามกฎหมายกำหนดให้ทุกๆบริษัทกันสำรองเอาไว้ทุกๆปี โดนส่วนที่กันสำรองนี้จะไม่สามารถนำไปจ่ายเงินปันผลได้ เพื่อเป็นหลักประกันให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียของบริษัททั้งหลาย การกันสำรองตามกฎหมายแบ่งออกเป็น 2 กรณีดังนี้
    • บริษัทจำกัด ให้กันสำรองเอาไว้ 5% ของกำไรในทุกๆคราวที่จ่ายเงินปันผล จนกว่าทุนสำรองนั้นจะมียอดเท่ากับ 10% ของทุนจดทะเบียน
    • บริษัทมหาชน ให้กันสำรองเอาไว้ 5% จากกำไรสุทธิประจำปี จนกว่าทุนสำรองนั้นจะมียอดเท่ากับ 10% ของทุนจดทะเบียน
  4. กำไรสะสมยังไมได้จัดสรร ณ ต้นปี 2562 มียอด 1,422 ล้านบาท และมีกำไรสะสมยังไม่ได้จัดสรรปลายปีที่ 1,853 ล้านบาท ซึ่งยอดที่เพิ่มขั้นนั้นเกิดจาก + กำไรสุทธิประจำปี 1,044 ล้านบาท – เงินปันผลจ่าย 600 ล้านบาท – กำไรจากการวัดมูลค่าใหม่ของภาระผูกพันผลประโยชน์หลังออกจากงาน – สุทธิจากภาษี – 13 ล้านบาท
  5. กำไรจากการวัดมูลค่าใหม่ของภาระผูกพันผลประโยชน์หลังออกจากงาน สำหรับเรื่องนี้เดี๋ยวจะเอาไว้อธิบายให้ละเอียดอีกทีนะครับ เอาเป็นว่ารายการนี้เกิดจากโดยปกติแล้วบริษัทต้องตั้งประมาณการจำนวนเงินที่ต้องจ่ายเมื่อพนักงานทำงานจนเกษียณอายุตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งการคำนวณรายการดังกล่าวจะต้องให้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยเป็นผู้คำนวณ โดยหากมีข้อสมมติฐานบางอย่างหรือข้อมูลบางอย่างที่เปลี่ยนไปจากครั้งก่อน รายการนี้จะถึงบันทึกเข้างบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จและตัวเลขนี้จะวิ่งเข้างบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น

สรุปงบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น (ส่วนของเจ้าของ)

ส่วนของเจ้าของ หรือ ส่วนของผู้ถือหุ้น เป็นจุดที่เอาไว้ดูว่ามูลค่าตามบัญชีของส่วนของผู้ถือหุ้นจริงๆนั้นมีมูลค่าเท่าใด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในส่วนของผู้ถือหุ้นว่าเกิดจากอะไรนั้นเราจะต้องมาดูที่งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น 

สามารถอ่านบทความน่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี่ คลิ๊ก!!


ที่มา : tanateauditor.com

 76756
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

สำหรับกิจการที่มีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชี คือ ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย กิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากร เป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี และต้องจัดให้มีการทำบัญชีสำหรับการประกอบธุรกิจของตนโดยมีรายละเอียด หลักเกณฑ์ และวิธีการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีประกอบธุรกิจเป็นประจำในสถานที่หลายแห่งแยกจากกันให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการธุรกิจในสถานที่นั้นเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี
ค่าแรงงาน หมายถึง ค่าจ้าง (Wages) และเงินเดือน (Salaries) ที่กิจการจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ในการจ่ายค่าจ้างอาจจ่ายเป็นรายชั่วโมง (Hourly) รายวัน (Daily) หรือตามหน่วยที่ผลิตได้ (Piecework) ส่วนเงินเดือนมักจะจ่ายเดือนละครั้ง
ตรายางบริษัท เป็นเครื่องมือทางธุรกิจอย่างหนึ่ง ประกอบไปด้วยโลโก้บริษัท หรืออาจใส่ชื่อบริษัทเข้าไปด้วยก็ได้ ตรายางบริษัทต้องสั่งทำเป็นพิเศษ เพื่อใช้สำหรับเป็นตัวแทนบริษัท หรือองค์กร ในการรับรองเอกสาร การทำธุรกรรม และทำนิติกรรมต่างๆ โดยเฉพาะ  
TAX กับ VAT เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงในโลกออนไลน์กันอย่างต่อเนื่องว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร และถือเป็นการเสียภาษีให้กับภาครัฐเหมือนกันหรือไม่? 
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย ทั้งจากผู้ประกอบการ และนักบัญชีเองนั้นมีมากมายหลากหลายคำถาม ในบทความนี้ เราได้สำรวจและรวบรวม 5 คำถามยอดฮิต พร้อมคำตอบมาให้เพื่อนๆ กันค่ะ คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่ว่านั้น จะมีเรื่องอะไรบ้างลองไปดูกันค่ะ

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์