ปิดงบปีนี้ต้องระวังจัดเสี่ยงอะไรบ้าง?

ปิดงบปีนี้ต้องระวังจัดเสี่ยงอะไรบ้าง?



การปิดงบการเงินแบบ normal อาจจะเป็นเรื่องไม่ normal อีกต่อไป ตั้งแต่มี Covid-19 เข้ามา แทบจะทุกธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิด เริ่มตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ และแน่นอนว่าผลกระทบเหล่านี้ย่อมต้องสะท้อนออกมาในงบการเงินอย่างถูกต้องและเหมาะสมเช่นกัน ก่อนจะปิดบัญชีปีนี้มีจุดเสี่ยงสำคัญอะไรในงบการเงินบ้างที่นักบัญชีต้องเรียนรู้ เราขออาสาพาทุกท่านมาทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กันเลย ในบทความนี้ค่ะ

1. การรับรู้รายได้ เมื่อโควิดทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ธุรกิจก็ย่อมต้องปรับตัว การรับรู้รายได้เองอาจจะเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปอย่างสิ้นเชิง ยกตัวอย่างเช่น
  • ธุรกิจฟิตเนส ที่รับค่าสมาชิกล่วงหน้าไว้ แล้วปิดฟิตเนส ขยายอายุการใช้งานให้สมาชิก
  • ธุรกิจโรงเรียน ต้องคืนเงินให้นักเรียน เพราะเปิดสอนไม่ได้ หรือพ่อแม่ไม่มั่นใจที่จะให้ลูกๆ ไปโรงเรียน
  • การจัด Promotion ลด แลก แจก แถม เพื่อดึงดูดลูกค้า
  • การเปลี่ยนสัญญาบริการหรือเงื่อนไขการชำระเงิน เพื่อช่วยเหลือลูกค้า
จากตัวอย่างข้างต้นนักบัญชีเองก็ต้องปรับการรับรู้รายได้ให้เข้ากับเงื่อนไขธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และสอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีเช่นกัน

2. ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ นอกจากจะขายของไม่ออก เคราะห์ซ้ำกรรมซัดอาจทำให้ธุรกิจมีลูกหนี้ค้างนานเก็บเงินไม่ได้เสียทีอีกด้วย ซึ่งผลกระทบตรงนี้นักบัญชีต้องพิจารณาเรื่องการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ เพื่อให้ลูกหนี้แสดงมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับหลังหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญแล้ว พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเช็คแล้วว่าลูกหนี้ที่มีอยู่ค้างนาน มีโอกาสได้รับชำระเงินริบหรี่ นักบัญชีต้องตั้งบัญชีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้ ตามหลักการที่มาตรฐานการบัญชียอมรับ สำหรับมาตรฐานรายงานทางการเงิน TFRS for NPAEs กล่าวไว้ว่า วิธีการประมาณหนี้สงสัยจะสูญสามารถทําได้ 3 วิธี ได้แก่

1.วิธีอัตราร้อยละของยอดขายเชื่อสุทธิ
2.วิธีอัตราร้อยละของลูกหนี้ที่ค้างชำระจำแนกตามอายุลูกหนี้
3.วิธีพิจารณาลูกหนี้แต่ละราย

กิจการต้องรับรู้หนี้สงสัยจะสูญเป็นค่าใช้จ่ายในงบกําไรขาดทุน ควบคู่กับการรับรู้ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งเป็นบัญชีปรับมูลค่าบัญชีลูกหนี้ ในงบแสดงฐานะการเงิน


3. ตั้งค่าเผื่อสินค้าลดมูลค่า สินค้าที่ขายไม่ออก ไม่ว่าจะเกิดจากการขนส่งที่ถูกปิด หน้าร้านที่ถูกปิด หรือพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่องบการเงิน เพราะตามมาตรฐานการบัญชีแล้ว ธุรกิจจะต้องแสดงมูลค่าสินค้าคงเหลือในงบการเงิน ณ ราคาทุนหรือราคาสุทธิที่คาดว่าจะได้รับแล้วแต่อะไรจะต่ำกว่า สินค้าที่ขายไม่ได้ อาจทำให้ราคาขายตก หรือชำรุด เสื่อมสภาพ ฉะนั้นนักบัญชีเองก็จะต้องเปรียบเทียบระหว่าง ราคาทุนของสินค้า ราคาสุทธิที่คาดว่าจะได้รับ มูลค่าที่ลดลงของสินค้าคงเหลือเนื่องจากการปรับมูลค่าให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับต้องบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายโดยแสดงเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนขายในงวดทันที

4. ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ เมื่อธุรกิจต้องปรับตัว อาจจะทำให้แพลนการใช้ประโยชน์สินทรัพย์อย่างพวก เครื่องจักร อุปกรณ์เปลี่ยนไป บางทีอาจหยุดการใช้งาน หรือต้องพิจารณาอายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์ใหม่อีกครั้ง ซึ่งมีผลต่อการคำนวณค่าเสื่อมราคาโดยตรง และที่สำคัญเครื่องมือเครื่องไม้ที่มีอยู่อาจด้อยมูลค่า ถ้าไม่สามารถสร้างประโยชน์หรือสร้างกระแสเงินสดในอนาคต นี่เป็นเรื่องสำคัญที่นักบัญชีจะต้องวิเคราะห์และปรับปรุงรายการตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

5. สัญญากู้ยืมเงิน บางบริษัทอาจมีปัญหาเรื่องของสภาพคล่อง จนไม่สามารถรักษาอัตราส่วนทางการเงินตามที่ธนาคารต้องการได้ เช่น debt to equity ratio มีมากกว่าที่กำหนดไว้ ซึ่งนักบัญชีจะต้องแจ้งเจ้าของกิจการให้ทราบถึงเรื่องนี้ และเจรจากับธนาคารเพื่อขอความช่วยเหลือ ในบางครั้งอาจจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งก็มีผลต่อการรับรู้รายการหนี้สินและจัดประเภทหนี้สินเช่นกัน

6. สมมติฐานการดำเนินงานต่อเนื่อง โดยปกติแล้วนักบัญชีจะปิดงบการเงินตามหลักการที่ว่ากิจการจะอยู่ไปอีกหนึ่งปีข้างหน้า กรณีที่เจ้าของธุรกิจขาดทุนหนักๆ และมีขาดทุนสะสม หรือมีหนี้สินล้นพ้นตัว อาจเกิดปัญหาที่ว่างบการเงินตามสมมติฐานว่ากิจการจะมีการดำเนินงานต่อเนื่อง (going concern) อาจใช้ไม่ได้แล้ว เพราะมีความไม่แน่นอนจาก covid-19 ฉะนั้นการประเมินมูลค่าในงบการเงิน ณ วันสิ้นปีอาจจะใช้วิธีการที่เปลี่ยนไป ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญและมีผลกระทบต่องบการเงินทั้งงบเลยล่ะค่ะ



Source (ต้นฉบับจาก): https://www.thaicpdathome.com/article/closing-book-what-to-avoid
Copyright by ThaiCpdatHome.com
 510
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิงจากประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง  กำหนดชนิดของบัญชีที่ต้องจัดทำ ข้อความและรายการที่ต้องมีในบัญชี ระยะเวลาที่ต้องลงรายการในบัญชี  และเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี พ.ศ.2544 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 (1) (2) (3) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติการบัญชีพ.ศ. 2543 อธิบดีกรมทะเบียนการค้าออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
เชื่อว่ามีหลายคนเลยทีเดียวที่คิดว่า ภาษีที่ดินกับภาษีบำรุงท้องที่เป็นภาษีชนิดเดียวกัน เพียงแต่มีคนเรียกให้ต่างกันเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาษีทั้งสองชนิดแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และด้วยความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนไปนี้เอง ทำให้หลายคนไม่รู้ว่าตนเองต้องจ่ายภาษีอะไรกันแน่ ยิ่งถ้าหากเป็นเจ้าของที่ดิน นายหน้า และเหล่านักอสังหาริมทรัพย์ ยิ่งต้องแยกให้ออกว่า ระหว่างภาษีทั้งสองประเภทต่างกันอย่างไร ที่สำคัญคือ ภาษีเหล่านี้ใน พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่
แบบ ภ.พ.30 คือแบบแสดงรายการสรุปภาษีซื้อ-ภาษีขาย เพื่อนำส่งกรมสรรพากร โดยผู้มีหน้าที่จัดทำคือ เจ้าของธุรกิจที่มีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี และได้ทำการขึ้นทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ต้องนำส่งให้กรมสรรพากรทุกเดือนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หรือสามารถยื่นผ่านทางอินเทอร์เน็ตก็ได้
คำว่า audit คืออะไร ในบางมุมคนอาจแทนความหมายของ audit เป็นอาชีพ ซึ่งหมายถึงอาชีพผู้ตรวจสอบบัญชี ซึ่งอาชีพ audit นั้นสามารถแบ่งได้ออกเป็นหลายประเภท หรือในบางมุมหากมองว่า audit คือการกระทำ คำว่า audit จะมีความหมายว่า การตรวจสอบซึ่งก็สามารถแบ่งได้ออกเป็นอีกหลายประเภทเช่น
เรื่องของบัญชีและภาษีได้อยู่ควบคู่กับธุรกิจมาอย่างยาวนาน ผู้ที่ทำธุรกิจควรมีความรู้และความเข้าใจในบัญชีและภาษีในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการทำบัญชีเบื้องต้นและการยื่นภาษีอากร แม้ว่าคุณจะไม่ได้ทำหน้าที่เหล่านั้นด้วยตัวคุณเอง แต่ในฐานะที่คุณทำธุรกิจมันจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะต้องเข้าใจในระดับหนึ่ง

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์