ประมาณการหนี้สินและหนี้สินที่อาจเกิดขึ้น

ประมาณการหนี้สินและหนี้สินที่อาจเกิดขึ้น


ความรู้เกี่ยวกับหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นได้ในทางบัญชี

เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในภายหน้า หมายถึงสภาพหรือสถานการณ์หรือเหตุการณ์บางอย่างอันอาจจะมีผลทำให้เกิดกำไรหรือขาดทุนแก่กิจการ ซึ่งผลสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นอยู่กับเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างในอนาคตว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่

หนี้สินที่อาจเกิดขึ้น (Contingent Liabilities) หมายถึงหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นเนื่องมาจากการดำเนินเงานที่ผ่านมาหรือเหตุกาณณ์อื่นหรือเงื่อนไขซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตหรืออาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ หนี้สินนี้ไม่เกี่ยวข้องกับจำนวนเงินของหนี้ว่าจะคำนวณได้แน่นอนหรือไม่ จำนวนของหนี้อาจจะคำนวณได้ถูกต้อง แต่ก็ยังจัดเป็นหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่นการค้ำประกันหนี้เป็นต้น.

ความหมายของหนี้สินที่อาจเกิดขึ้น ลักษณะของหนี้สินที่อาจเกิดขึ้น

ณ วันที่ในงบการเงินงวดใดงวดหนึ่งของกิจการ ฝ่ายจัดการอาจพบว่ามีสถานการณ์หรือเหตุการณ์บางอย่างที่อาจก่อให้เกิดกำไรหรือขาดทุนในอนาคตต่อกิจการ ในกรณีที่ความไม่แน่นอนของเหตุกาณณ์นั้นยังคงอยู่จนถึงวันที่กิจการออกงบการเงิน เหตุการณ์ดังกล่าวนี้จะจัดเป็นเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในภายหน้า (Contingencies) แต่ถ้าความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ดังกล่าวได้คลี่คลาย และสามารถประมาณผลของเหตุการณ์นั้นได้อย่างมีเหตุผล เหตุการณ์นั้นจะจัดเป็นเหตุการณ์ภายหลังวันที่ในงบการเงิน (Events After The Balance Sheet Date)

ฝ่ายจัดการมีหน้าที่ในการพิจารณาว่าเหตุการณ์ในภายหน้าจะทำให้เกิดผลประการใดต่อกิจการ และควรจะประมาณผลกระทบทางด้านการเงินด้วย โดยฝ่ายจัดการต้องพิจารณาจากข้อมูลที่มีอยู่ ณ วันที่ในงบดุลจนถึงวันที่ผู้บริหารอนุมัติให้ออกงบการเงินได้ โดยต้องอาศัยการติดตามเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นภายหลังจากวันที่ในงบดุลประกอบกับประสบการณ์เกี่ยวกับรายการต่างๆที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน และในบางกรณีอาจต้องอาศัยรายงานจากผู้เชี่ยวชาญภายนอกอีกด้วย เนื่องจากว่าหนี้สินที่อาจเกิดขึ้น ก็จัดได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้น หนี้สินที่อาจเกิดขึ้นสามารถกล่าวสรุปได้ว่ามีลักษณะทั่วไป 2 ประการดังนี้คือ

  1. เป็นหนี้สินประเภทที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีเหตุการณ์ในอดีตหรือปัจจุบันเป็นมูลฐาน กล่าวคือเป็นหนี้สินที่อาจจะเกิดหรือไม่เกิดในอนาคตก็ได้ แต่มีโอกาสของความเป็นไปได้ที่จะเกิด
  2. เป็นหนี้สินประเภทที่อาจจะกำหนดจำนวนหนี้ได้หรือไม่ได้ กล่าวคือหนี้สินที่อาจจะเกิดบางครั้งก็สามารถกำหนดมูลค่ของจำนวนหนี้ที่แน่นอนได้ แต่บางครั้งก็ไม่สามารถกำหนดมูลค่าที่แน่นอนได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์

ลักษณะของเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในภายหน้า เหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในภายหน้า อาจแบ่งประเภทได้ 2 ลักษณะตามผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อกิจการ

  1. ผลกำไรที่อาจเกิดขึ้นในภายหน้า (Gain Contingencies) กิจการจะไม่บันทึกบัญชีผลกำไรที่อาจเกิดขึ้นภายในหน้า เนื่องจากอาจทำให้มีการรับรู้รายได้ที่ไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามถ้ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ว่าผลกำไรจะเกิดขึ้น กำไรดังกล่าวก็จะไม่เข้าลักษณะที่อาจเกิดขึ้นต่อไป ดังนั้น กิจการก็จะต้องบันทึกบัญชีผลกำไรนั้นด้วย
  2. ผลเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในภายหน้า (Loss Contingencies) วิธีปฏิบัติทางบัญชีสำหรับผลเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในภายหน้า กิจการควรบันทึกผลเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในภายหน้าไว้เป็นผลขาดทุนในบัญชีนั้น เมื่อเข้าหลักเกณฑ์ทั้ง 2 ข้อดังนี้
  • มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่นอนว่าผลเสียหายจะเกิดขึ้นในอนาคต และจะมีผลทำให้สินทรัพย์ ณ วันที่ในงบดุลมีค่าลดลง หรือหนี้สินมีจำนวนมากขึ้น ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงส่วนที่อาจเรียกชดใช้คืนด้วย
  • สามารถประมาณจำนวนเงินได้อย่างสมเหตุสมผล

ในกรณีที่ผลเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในภายหน้าไม่เข้าหลักเกณฑ์ทั้ง 2 ข้อข้างต้น ให้กิจการเปิดเผยข้อมูลไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน (แต่ถ้าโอกาสที่เกิดการขาดทุนมีน้อยมากกิจการก็ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลก็ได้)

หลักเกณฑ์ในการกำหนดจำนวนเงินของผลเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในภายหน้า ในการกำหนดจำนวนเงินของผลเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในภายหน้าเพื่อนำมาบันทึกบัญชีนั้น กิจการต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

  1. พิจารณาจากข้อมูลที่มีอยู่จนถึงวันที่ออกงบการเงิน ซึ่งได้แก่เหตุการณ์ภายหลังวันที่ในงบดุลที่ชี้ให้เห็นว่ามีการสูญเสียสินทรัพย์ หรือมีหนี้สินเพิ่มขึ้น อันเป็นผลเนื่องมาจากสภาพการณ์ที่ไม่แน่นอนก่อนวันที่ในงบดุล
  2. ในกรณีที่มีผลเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในภายหน้าหลายเหตุการณ์ และสภาพการณ์ของแต่ละเหตุการณ์ต่างกัน ให้พิจารณากำหนดผลเสียหายของแต่ละเหตุการณ์แยกจากกัน
  3. กรณีที่ผลเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในภายหน้าหลายเหตุการณ์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันกิจการอาจกำหนดผลเสียหายรวมเข้าด้วยกัน โดยไม่ต้องพิจารณาแยกแต่ละรายก็ได้

ตัวอย่างของผลเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในภายหน้าเช่น ?

– ความเสี่ยงทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นทางธุรกิจ
– ความไม่แน่นอนจากการเก็บเงินจากลูกหนี้
– ภาระผูกพันจากการประกันคุณภาพสินค้า
– ความเสี่ยงต่อการสูญหายหรือเสียหายในสินทรัพย์เนื่องจากอัคคีภัย หรือภัยอื่นๆ
– ความเสี่ยงจากการเวนคืนสินทรัพย์
– การถูกฟ้องร้องคดี การถูกเรียกร้องค่าเสียหาย หรือถูกประเมินภาษีที่เกิดขึ้นแล้วแต่ยังไม่ทราบผล
– การค้ำประกันหนี้สินของผู้อื่น
– ข้อผูกพันที่อาจต้องซื้อสินทรัพย์ที่ขายไปกลับคืนมา

ตัวอย่างของหนี้สินที่อาจเกิดขึ้น คืออะไร ?

ตัวอย่างของหนี้สินที่อาจเกิดขึ้นที่สามารถกำหนดมูลค่าจำนวนหนี้ที่แน่นอนได้ เช่น การสลักหลังโอนตั๋ว การค้ำประกันหนี้ การถูกฟ้องร้องและเป็นคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา การประเมินภาษีย้อนหลังและถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่ม การรับประกันคุณภาพสินค้าที่ออกสู่ตลาดใหม่


ขอบคุณบทความจาก : รับทำบัญชี

 859
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

โดยทั่วไปผู้มีเงินได้ต้องนำเงินได้พึงประเมินทุกประเภทของตน ตลอดปีภาษี (ไม่รวมเงินได้ที่กฎหมายยกเว้นภาษี หรือที่ไม่ต้องเสียภาษี) ไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสิ้นปี เพื่อยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่มีเงินได้ การคำนวณภาษีให้ทำเป็น 3 ขั้น คือ
เจ้าของกิจการย่อมต้องทราบดีว่านิติบุคคลมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลปีละ 2 ครั้ง คือ รอบครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) และรอบสิ้นปี (ภ.ง.ด. 50)  ยกเว้นเฉพาะนิติบุคคลจะไม่ต้องยื่นภาษีเงินได้รอบครึ่งปีก็ต่อเมื่อเริ่มประกอบกิจการเป็นปีแรก หรือ ยกเลิกกิจการ ซึ่งทำให้มีรอบระยะเวลาบัญชีไม่ครบ 12 เดือน
ปัจจุบันเราเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือยุค AEC ภาษาอังกฤษจึงถือเป็นภาษาหลักและกลายเป็นวิชาบังคับในหลายสถาบันการศึกษา ด้วยความหลากหลายทางธุรกิจและเชื้อชาติในการทำงานร่วมกันการสื่อสารจึงจำเป็นอย่างมาก
อยากวางแผนภาษีของกิจการให้ดี แต่ไม่รู้เลยว่าเจ้าหน้าที่สรรพากรจะรับรู้รายได้ที่เรามีได้อย่างไร คุณกำลังเป็นแบบนี้อยู่ใช่มั้ย?
การสลักหลังเช็ค เราสามารถทำได้กี่แบบ แล้วมันแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
ลูกหนี้การค้า ถือเป็นหัวใจหลักที่กระทบกับสภาพคล่องของธุรกิจ ถ้าธุรกิจบริหารจัดการ ลูกหนี้การค้าไม่ดี ติดปัญหารายได้ค้างรับ คือขายของเป็นเงินเชื่อแล้วไม่สามารถเก็บเงินได้ ต้องเกิดบัญชีลูกหนี้การค้า ขึ้น หรือต้องแทงลูกหนี้การค้าเป็นหนี้สูญ  ธุรกิจมีปัญหาเงินขาดมือ ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อหมุนเงิน สุดท้ายส่งผลกระทบมายังนักลงทุนที่อาจไม่ได้รับเงินปันผล เนื่องจากบริษัทมีเงินสดขาดมือ ขาดสภาพคล่องในเรื่องของเงินทุนหมุนเวียน ดังนั้นนักลงทุนควรเลือกลงทุนกับบริษัทที่มีความสามารถในการจัดการหนี้สินได้เป็นอย่างดี

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์