เปิดร้านอาหาร.. จดบริษัทหรือไม่จดดีกว่ากัน มี "ภาษี" อะไรบ้าง มาดูกัน

เปิดร้านอาหาร.. จดบริษัทหรือไม่จดดีกว่ากัน มี "ภาษี" อะไรบ้าง มาดูกัน


มาดู
ในข้อแตกต่างของการจดทะเบียนที่หลายคนสงสัยว่า จดแบบบุคคลธรรมดา กับ จดแบบนิติบุคคล ต่างกันอย่างไร หรือ จะมีข้อดี ข้อเสียอย่างไร ทำความเข้าใจก่อนเริ่มธุรกิจ "ร้านอาหาร" โดยเฉพาะถ้าเปิดเป็นร้านอาหารแบบจริงจัง หรือมีหุ้นส่วนร่วมด้วย จะเสียภาษีรูปแบบบุคคลธรรมได้หรือไม่ 
หรือควรจดทะเบียนบริษัท แต่ละแบบต้องทำอย่างไร ? แล้วแบบไหนใช้ประโยชน์ทางภาษีได้มากกว่ากัน 

       เมื่ออาหารเป็นปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อชีวิตมนุษย์ จึงไม่แปลกใจที่อาชีพเกี่ยวกับการขายอาหารได้ผุดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งขนาดเล็กเรื่อยไปจนถึงใหญ่ กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นแบบหาบเร่ มีหน้าร้านแบบซื้อกลับ หรือเปิดเป็นร้านขายอาหารมีที่นั่งรับประทานในร้าน ถือเป็นอาชีพที่มั่นคงเพราะทุกคนย่อม ต้องรับประทานอาหารอยู่แล้ว อีกทั้งธุรกิจยังสร้างรายได้ได้ตลอด
     

        ดังนั้น รายได้จากการขายอาหารนี้เอง ผู้ขายมีหน้าที่ต้องเสียภาษี ตามกฎหมายด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ขายจะเสียภาษีในรูปแบบบุคคลธรรมดา แต่หากมีการเปิดเป็นร้านอาหารแบบจริงจัง หรืออาจมีหุ้นส่วนร่วมธุรกิจร้านอาหารด้วย จะยังคงเสียภาษีรูปแบบบุคคลธรรมได้หรือไม่ หรือควรจดทะเบียนบริษัท จึงจะถูกต้อง และแบบไหนจะใช้ประโยชน์ทางภาษีได้มากกว่ากัน เราไปทำความเข้าใจกัน

เปิดร้านอาหารแบบ...บุคคลธรรมดา

การเปิดร้านอาหารที่ผู้ประกอบการต้องการทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา ซึ่งสิ่งที่ต้องทำประกอบด้วย

  1. จดทะเบียนพาณิชย์ (ทะเบียนการค้า)

           ผู้ประกอบการร้านอาหารที่ต้องการทำธุรกิจในนาม "บุคคลธรรมดาต้องจดทะเบียนพาณิชย์ (ทะเบียนการค้า) ตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499 ภายใน 30 วัน
นับแต่วันที่เริ่มประกอบการร้านอาหารโดยระบุวัตถุประสงค์ของการจดทะเบียนพาณิชย์ว่า “เป็นการประกอบกิจการร้านอาหารหรือจำหน่ายอาหาร”

          ทั้งนี้ ร้านอาหารในเขตกรุงเทพฯ สามารถยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร และสำนักงานเขตที่ร้านอาหารตั้งอยู่
ส่วนต่างจังหวัดให้ยื่นคำขอได้ที่ เทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลที่ร้านอาหารตั้งอยู่ในท้องที่

 
สำหรับเอกสารที่ต้องใช้ยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์คือ

 - คำขอจดทะเบียนพาณิชย์ (แบบ ทพ.)

 - สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้จดทะเบียนพาณิชย์

 - สำเนาทะเบียนบ้านของผู้จดทะเบียนพาณิชย์ กรณีที่ผู้จดทะเบียนพาณิชย์ไม่ได้เป็นเจ้าบ้านของสถานที่ตั้งร้าน ต้องแนบเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้

        1) หนังสือให้ความยินยอมให้ใช้สถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่

        2) สำเนาทะเบียนบ้านที่แสดงให้เห็นว่าผู้ให้ความยินยอมเป็นเจ้าบ้าน หรือสำเนาสัญญาเช่า โดยมีผู้ให้ความยินยอมเป็นผู้เช่า หรือเอกสารสิทธิ์อย่างอื่นที่ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์
            เป็นผู้ให้ความยินยอม

 - แผนที่ตั้งของร้าน

 - หนังสือมอบอำนาจ (กรณีที่ไม่ได้ไปยื่นจดทะเบียนด้วยตัวเอง)

 - สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ (ถ้ามี)

- ค่าธรรมเนียม 50 บาท

        หลังจากจดทะเบียนพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องแสดงใบทะเบียนพาณิชย์ ไว้ที่สำนักงานในบริเวณที่เปิดเผยและมองเห็นได้ง่าย และต้องติดป้ายชื่อร้านที่ใช้
ในการประกอบพาณิชย์ไว้หน้าร้านและร้านสาขา (ถ้ามี) บริเวณที่เปิดเผย

2. ภาษีที่ต้องเสีย

    สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารที่จดทะเบียนพาณิชย์ และเลือกเสียภาษีในนามบุคคลธรรมดา จัดเป็นอาชีพเงินได้ประเภทที่ 8 หรือ เงินได้ 40(8) หลักการเสียภาษีจะเหมือนบุคคล
ธรรมดาผู้มีเงินได้ทั่วไป ซึ่งอธิบายได้ดังนี้

 2.1 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีที่ผู้ประกอบการร้านอาหารมีรายได้ 120,000 บาท/ปี ต้องยื่นแบบฯ ภาษีแต่ไม่เสียภาษี ทว่าถ้าหากมีรายได้เกิน 150,000 บาท/ปี จึงต้องเสียภาษี
โดยใช้วิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามอัตราภาษีขั้นบันได ตั้งแต่ 5-35%

 โดยยื่นแบบชำระภาษีปีละ 2 ครั้ง คือ

       - ครั้งที่ 1 ยื่นแบบชำระภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน (รายได้ 6 เดือนแรก ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน) ซึ่งสามารถยื่นด้วยตัวเองที่สำนักงานสรรพากรทั่วประเทศ
         หรือยื่นออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.rd.go.th

       - ครั้งที่ 2 ยื่นชำระภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.90) ช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม ของปีถัดไป (รายได้ตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม โดยนำภาษีที่จ่ายครั้งแรกมาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้ในครั้งที่ 2)
         ซึ่งสามารถยื่นด้วยตัวเองที่สำนักงานสรรพากรทั่วประเทศ หรือยื่นออนไลน์ได้ถึงวันที่ 8 เมษายน ที่เว็บไซต์ www.rd.go.th

 2.2 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการร้านอาหารมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) ภายใน 30 วัน และต้องทำการยื่นภาษีแบบ ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน

 2.3 ภาษีป้าย ในกรณีที่ร้านอาหารมีการติดป้ายชื่อร้าน ยี่ห้อ เครื่องหมายการค้า หรือการโฆษณาร้าน เป็นต้น จะต้องเสียภาษีตามพ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ.2510 โดยเก็บภาษีตามลักษณะป้าย ดังนี้

      - ป้ายที่มีอักษรภาษาไทยล้วน อัตราภาษีป้าย 5,10 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.

      - ป้ายที่มีอักษรภาษาไทยปนภาษาต่างประเทศ และ/หรือปนกับภาพ และ/หรือเครื่องหมายอื่น อัตราภาษีป้าย 26, 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.

      - ป้ายที่ไม่มีอักษรไทยไม่ว่าจะมีภาพหรือเครื่องหมายใดๆ หรือไม่ และป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วน หรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ อัตราภาษีป้าย 50, 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.

 2.4 ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต้องพิจารณาก่อนว่าพื้นที่ร้านอาหารเป็นของผู้ประกอบการเองหรือเช่า ในกรณีที่เช่าจะต้องทำการตกลงให้ชัดเจนกับเจ้าของพื้นที่
ว่าภาษีในส่วนนี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

   ทั้งนี้ อัตราภาษีที่ต้องเสียหากเป็นที่ดินจะใช้การประเมินทุนทรัพย์สิน และสิ่งปลูกสร้างจะใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์สิ่งปลูกสร้าง ดังนี้

            มูลค่า 0-50 ล้านบาท อัตราภาษี 0.30%

            มูลค่า >50 – 200 ล้านบาท อัตราภาษี 0.40%

            มูลค่า >200 – 1,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.50%

            มูลค่า >1,000 – 5,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.60%

            มูลค่า >5,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.70%


เปิดร้านอาหารแบบจดบริษัท...นิติบุคคล

    การเปิดร้านอาหารที่ผู้ประกอบการต้องการทำธุรกิจในนาม "นิติบุคคล"  ซึ่งสิ่งที่ต้องทำประกอบด้วย

 1. จดทะเบียนพาณิชย์นิติบุคคล

   การจดทะเบียนพาณิชย์นิติบุคคล หรือการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทนั้น ส่วนใหญ่จะนิยมจดอยู่ 2 ประเภท คือ บริษัทจำกัดกับห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยการจดทะเบียนพาณิชย์นิติบุคคล ค่อนข้างซับซ้อน
ยุ่งยากกว่าการจดทะเบียนพาณิชย์บุคคลธรรมดา (ทะเบียนการค้า) ซึ่งผู้ประกอบการร้านอาหาร จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัท ดังนี้

    - ให้ผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัท จัดทำหนังสือบริคณห์สนธิ กำหนดทุนจดทะเบียน และหาผู้ร่วมทุนเข้ามาซื้อหุ้นบริษัท

    - กำหนดมูลค่าหุ้น และผู้ถือหุ้นสามารถจัดสรรกันเองได้ว่า ผู้ถือหุ้นจะถือหุ้นคนละจำนวนเท่าไร

   - ผู้ถือหุ้นทั้งหมดทำการเลือกกรรมการหนึ่งคนหรืออาจจะหลายคนก็ได้ ให้เข้ามาบริหารจัดการร้านอาหาร ซึ่งทั้งหมดจะต้องจดแจ้งไว้ในรายการที่จดทะเบียน

และผู้ประกอบการต้องระบุวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับการจำหน่ายอาหาร หรือธุรกิจร้านอาหารในหนังสือรับรองนิติบุคคล

      ทั้งนี้ ร้านอาหารที่ขอจดทะเบียนนิติบุคคล หากอยู่กรุงเทพมหานคร ยื่นขอจดทะเบียนได้ที่ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือสำนักงานทะเบียน
พาณิชย์เขต ส่วนต่างจังหวัดสามารถยื่นขอจดทะเบียนได้ที่ สำนักงานทะเบียนพาณิชย์จังหวัด

โดยมีเอกสารที่ต้องใช้ยื่นขอจดทะเบียนนิติบุคคลคือ

 - คำขอจดทะเบียนพาณิชย์ (แบบ ทพ.)

 - สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน

 - สำเนาทะเบียนบ้านของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน

 - หนังสือหรือสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล

 - หนังสือให้ความยินยอมให้ใช้สถานที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่

 - สำเนาทะเบียนบ้านที่แสดงให้เห็นว่าผู้ให้ความยินยอมเป็นเจ้าบ้านหรือผู้ขอเลขที่บ้าน หรือสำเนาสัญญาเช่า โดยมีผู้ให้ความยินยอมเป็นผู้เช่า หรือเอกสารสิทธิ์อย่างอื่นที่ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นผู้ให้ความยินยอม

 - แผนที่แสดงที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่และสถานที่สำคัญบริเวณใกล้เคียงโดยสังเขป

 - หนังสือมอบอำนาจ (กรณีที่ผู้ประกอบร้านค้าไม่ได้ไปยื่นจดทะเบียนด้วยตัวเอง)

 - สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ (ถ้ามี)

 - ค่าทำเนียมการจดทะเบียน 50 บาท

   หลังจากจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเป็นนิติบุคคลแล้ว การดำเนินการจะต้องผ่านกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ภายใต้วัตถุประสงค์ของบริษัทที่ได้กำหนดไว้ในรายการจดทะเบียน

2. ภาษีที่ต้องเสีย

      เมื่อผู้ประกอบการร้านอาหารได้จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคลแล้ว กำไรที่เกิดขึ้นจะถูกนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งมีหลักการ (สำหรับกิจการที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี
และมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท จะได้รับสิทธิภาษีอัตราของ SME) ดังนี้

          กำไร 300,000 บาทแรก = ยกเว้นภาษี

          กำไร 300,001 – 3 ล้าน = ภาษี 15%

          กำไรมากกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไป = ภาษี 20%

โดยยื่นแบบชำระภาษีปีละ 2 ครั้ง คือ

   - ครั้งที่ 1 ยื่นแบบชำระภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) โดยต้องยื่นและชำระภาษีภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของ 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี

   - ครั้งที่ 2 ยื่นแบบชำระภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.50) โดยต้องยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 150 วันนับจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีป้าย และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะเหมือนกับรูปแบบบุคคลธรรมดา

ความแตกต่างของการจดทะเบียนบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

   เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการร้านอาหารตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ระหว่างจดบริษัทนิติบุคคล หรือไม่จดยังคงอยู่ในรูปแบบบุคคลธรรมดาดีกว่า สามารถสรุปข้อดีและข้อเสียของทั้ง 2 แบบได้ดังนี้

  • จดทะเบียนรูปแบบบุคคลธรรมดา

  ลักษณะ บุคคลทั่วไป

 ข้อดี

     - จัดตั้งง่ายเหมาะกับกิจการขนาดเล็ก

     - จะได้กำไรหรือขาดทุน เจ้าของเป็นผู้รับผิดชอบแต่พียงผู้เดียว

     - อำนาจการตัดสินใจอยู่ในมือเจ้าของ มีอิสระในการบริหารเต็มที่

     - ค่าใช้จ่ายในการบริหารต่ำ

     - อยากยกเลิกกิจการเมื่อไหร่ก็ทำได้ง่าย

     - ข้อบังคบทางกฎหมายน้อย

 ข้อเสีย

     - เจ้าของรับผิดชอบในหนี้สิน ไม่จำกัดจำนวน

     - การหาเงินทุนเพิ่มอาจทำได้ยาก

     - ขาดความน่าเชื่อถือ

     - กิจการมีอายุอยู่ตราบเท่าเจ้าของยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น ไม่ยืนยาวและไม่ต่อเนื่อง

     - เสียเปรียบด้านภาษีอากร

  • จดทะเบียนรูปแบบนิติบุคคล (บริษัทจำกัด)

  ลักษณะ บุคคล 3 คนขึ้นไป ลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้นรับผิดในหนี้ต่างๆ ไม่เกินจำนวนเงินที่ผู้ถือหุนแต่ละคนลงทุน และต้องจดทะเบียนนิติบุคคล

  ข้อดี

     - ผู้ถือหุ้นมีความรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ค้างชำระ

     - มีจำนวนหุ้นส่วนได้ไม่จำกัด

     - ซื้อ ขายหรือโอนหุ้นให้แก่บุคคลอื่นได้

     - สามารถหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ (เสียภาษีจากกำไรสุทธิทางภาษี)

     - มีความน่าเชื่อถือ

     - เสียภาษีน้อยกว่าบุคคลธรรมดา

  ข้อเสีย

     - ขั้นตอนการจัดตั้งยุ่งยาก

     - จำนวนผู้ถือหุ้นที่ลดลง อาจเป็นเหตุให้เลิกบริษัทได้

     - การเลิกบริษัทมีขั้นตอนยุ่งยาก

     - ค่าใช้จ่ายการดำเนินการสูงกว่า

     - ต้องจัดการเอกสาร ยุ่งยากวุ่นวายกว่าบุคคลธรรมดา

     - มีเรื่องภาษีต่างๆมากเกี่ยวข้องมากขึ้น

สรุป

    จะเห็นได้ว่าตั้งแต่บรรทัดแรกจนมาถึงบรรทัดนี้ แม้ว่าทั้ง 2 รูปแบบ จะมีรายละเอียดที่เหมือนและแตกต่างกันไปบ้าง รวมถึงข้อดีและข้อเสียที่ช่วยในการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบบุคคลธรรมดา
มีธุรกิจขนาดเล็ก ไม่ยุ่งยากซับซ้อน มีเจ้าของเพียงคนเดียว หรือต้องการเติบโตเป็นธุรกิจอาหารที่มีความมั่นคงในรูปแบบนิติบุคคลก็ตาม

    แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการร้านอาหารเองว่า ได้มองเป้าหมายของการทำธุรกิจร้านอาหารของตนเองไว้อย่างไร แล้วตัดสินใจไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ไม่ยาก

สามารถอ่านบทความน่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี่ คลิ๊ก!


 เครดิต : https://www.bangkokbiznews.com

 5639
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

การจัดการการเงินของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่าย, ใบเสร็จและสเปรดชีตของรายได้ จำเป็นต้องใช้วิธีต่าง ๆ ในการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินที่ค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งถ้าหากไม่รอบคอบอาจมีความเสี่ยงทำให้ข้อมูลทางการเงินของธุรกิจผิดพลาดได้ อย่างไรก็ตามสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ด้วยซอฟต์แวร์หรือระบบบัญชีที่ถูกต้อง โดยการจัดเตรียมไฟล์บัญชีที่ทันสมัย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาของการเสียภาษี ทำให้หลาย ๆ ธุรกิจหันมาพึ่งโปรแกรมหรือซอฟต์แวร์บัญชีเพราะมันสามารถสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจได้มากมายดังต่อไปนี้
สินค้าขายได้ดีไหม เราถือสินค้าไว้นานเท่าไรกว่าจะขายได้ นักบัญชีจะช่วยเจ้าของธุรกิจวิเคราะห์สินค้าคงเหลือได้อย่างไรบ้าง
เมื่อกล่าวถึงการเช่าทรัพย์หรือสัญญาเช่าทรัพย์แล้ว ท่านผู้อ่านหลายท่านที่คลุกคลีอยู่กับวงการภาษีอากรคงจะคุ้นเคยกันเป็นประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากรอย่างดีทั้งนี้ ก็เนื่องมาจากประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากรนั้นมีหลากหลายมากมายจนอาจกล่าวได้ว่าจำกันไม่ไหวเลยทีเดียว อย่างไรก็ดีไม่ว่าประเด็นปัญหาดังกล่าวกรมสรรพากรจะได้มีการวางแนววินิจฉัยไว้แล้วเพียงใดก็ตาม แต่ก็พบว่าผู้ที่เกี่ยวข้องก็ยังคงประสบกับปัญหาต่างๆ กันอยู่ไม่น้อย อาจเนื่องมาจากยังขาดความรู้ความเข้าใจในทางปฏิบัติเกี่ยวกับเอกเทศสัญญาเกี่ยวกับเช่าทรัพย์ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรืออาจมีความเข้าใจในประเด็นปัญหาภาษีอากรที่คลาดเคลื่อนไปรวมทั้งในทางปฏิบัติมีการใช้คำว่า “เช่า” ให้ครอบคลุมไปถึงธุรกรรมอื่นที่ไม่ใช่ “เช่า” ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น การเช่าพระเครื่อง การเช่าชั่วโมงอินเทอร์เน็ต การเช่าพื้นที่เพื่อแสดงสินค้าในงานแสดงสินค้าต่างๆ เป็นผลทำให้ความเข้าใจในเรื่องของภาษีอากรเกี่ยวกับเอกเทศสัญญาที่เรียกว่า “เช่าทรัพย์” นั้นคลาดเคลื่อนไปด้วย ผู้เขียนจึงได้รวบรวมเอาเรื่องราวอันเกี่ยวกับการเช่าทรัพย์ ทั้งในด้านความเป็นเอกเทศสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และในด้านของภาษีอากร ไม่ว่าจะเป็นกรณีการมีรายได้จากการให้เช่าทรัพย์ว่าจะต้องมีภาระภาษีอะไรบ้าง เช่น จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างไร ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ และสัญญาเช้าที่ทำกันนั้นต้องติดอากรแสตมป์อย่างไรหรือไม่ รวมทั้งกรณีที่ผู้เช่าได้จ่ายค่าเช่าไปในบางกรณีว่าจะลงเป็นรายจ่ายทางภาษี หรือนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้น (ถ้ามี) ไปใช้ได้หรือไม่อย่างไร
ปัจจุบันเราเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือยุค AEC ภาษาอังกฤษจึงถือเป็นภาษาหลักและกลายเป็นวิชาบังคับในหลายสถาบันการศึกษา ด้วยความหลากหลายทางธุรกิจและเชื้อชาติในการทำงานร่วมกันการสื่อสารจึงจำเป็นอย่างมาก
แนวทางการบันทึกบัญชี ธุรกิจซื้อมาขายไป การขายสินค้าออนไลน์

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์