1. ผู้ทำบัญชี คือใคร?
ผู้ทำบัญชี คือผู้ได้รับมอบหมายจากผู้ประกอบการธุรกิจ ให้เป็นผู้รับผิดชอบในการทำบัญชีของกิจการแห่งหนึ่ง กฎหมายกำหนดให้กิจการหนึ่งแห่งจะต้องมีผู้ทำบัญชี 1 คน ซึ่งอาจเป็นผู้อำนวยการฝ่ายบัญชี สมุห์บัญชี หัวหน้าแผนกบัญชี หรือผู้รับจ้างทำบัญชีอิสระ ก็ได้ ทั้งนี้ผู้ทำบัญชีหนึ่งคนจะรับทำบัญชีได้ไม่เกินปีละ 100 แห่ง
2. ผู้ทำบัญชีต้องมีคุณสมบัติอย่างไร?
คุณสมบัติของผู้ทำบัญชีนั้นถูกกำหนดตามขนาดของธุรกิจ โดยผู้ทำบัญชีให้กับห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท ต้องมีวุฒิไม่ต่ำกว่าอนุปริญญา หรือ ปวส.ทางการบัญชี ส่วนผู้ทำบัญชีให้กับห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่มีขนาดใหญ่ ต้องมีคุณวุฒิปริญญาตรีทางการบัญชีขึ้นไป หรือเทียบเท่า
3. นักบัญชีทุกคนต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำบัญชีหรือไม่?
นักบัญชีทุกคนไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำบัญชี เพราะการเป็นนักบัญชีทั่วไปไม่ถือว่าเป็นผู้ทำบัญชี เนื่องจากผู้ทำบัญชีจะต้องเป็นบุคคลที่ผู้ประกอบการหรือนิติบุคคลมอบหมายให้ เป็นผู้มีหน้าที่ทำบัญชีและมีหน้าที่รับผิดชอบในการลงนามใน สบช.3 โดยผู้ทำบัญชีทุกคนจะต้องแจ้งการเป็นผู้ทำบัญชีที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าภาย ใน 60 วันนับตั้งแต่วันที่รับทำบัญชี
4. ชั่วโมงการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพบัญชี (CPD) นับอย่างไร?
ผู้ทำบัญชีจะต้องมีการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพ (CPD ย่อมาจาก Continuing Professional Development) เพื่อคงสถานะความรู้ทางวิชาชีพไว้ตลอดเวลา รวมทั้งเพิ่มพูมความรู้ใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการทำบัญชี ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต
โดยจะต้องนับชั่วโมงให้ได้ไม่น้อยกว่า 27 ชั่วโมงในรอบ 3 ปี ทั้งนี้ใน 27 ชั่วโมงนั้น จะต้องมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับการบัญชีไม่น้อยกว่า 18 ชั่วโมง และเรื่องอื่น ๆ อีก 9 ชั่วโมง โดยเฉลี่ยในรอบ 1 ปีจะต้องมีการพัฒนาความรู้ไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง นอกจากนี้การเป็นวิทยากรสามารถนับได้ 3 เท่าของชั่วโมงบรรยาย โดยไม่ให้นับซ้ำหัวข้อเดิมในทุกรอบ 3 ปี และการเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษา นับได้วิชาละ 9 ชั่วโมงโดยไม่ให้นับซ้ำหัวข้อเดิมในทุกรอบ 3 ปี
5. การแจ้งการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพ (CPD) ต้องทำอย่างไร?
ผู้ทำบัญชีต้องแจ้งการพัฒนาความรู้ต่อเนื่องทางวิชาชีพ (CPD) กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทางอินเทอร์เน็ตใน www.dbd.go.th ภายใน 60 วันหลังจากสิ้นสุดปีปฏิทิน ซึ่งได้แก่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 1 มีนาคม ของปีถัดไปนั่นเอง