ภาษี หัก ณ ที่ จ่าย คืออะไร เข้าใจเรื่องภาษีแบบง่ายๆ ในปี 2021

ภาษี หัก ณ ที่ จ่าย คืออะไร เข้าใจเรื่องภาษีแบบง่ายๆ ในปี 2021


ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นภาษีที่คนวัยทำงานทุกคนจะต้องเคยเห็น แต่หลายคนก็อาจจะไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร ใครต้องเป็นคนจ่าย หักเงินยังไง เมื่อไหร่ บทความชิ้นนี้จะมาแนะนำให้เรารู้จักกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย พร้อมระบุประเภทและอัตราการหักภาษีแบบที่เข้าใจง่าย

ภาษี หัก ณ ที่ จ่าย คืออะไร มีไว้ทำไม

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คือภาษีชนิดที่จะมีการหักทุกครั้งที่เกิดการจ่ายเงินตามเงื่อนไขที่ภาษีครอบคลุม โดยผู้ที่เป็นฝ่ายจ่ายเงินจะต้องหักจากจำนวนเงินที่จะจ่ายให้ผู้รับเงิน และเอาเงินนั้นไปให้กับรัฐ ฝ่ายผู้รับก็ได้เงินแบบไม่เต็มจำนวน พร้อมกับเอกสาร “หนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย” เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันเวลาทำเรื่องลดหย่อนภาษี

กรมสรรพากรระบุไว้ว่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย มีไว้เพื่อลดภาระผู้เสียภาษี จะได้ไม่ต้องเสียภาษีทีเดียวเยอะๆ ตอนท้ายปี และในอีกแง่ก็เป็นภาษีที่ทำให้มีเงินเข้ารัฐมากขึ้น เพราะผู้รับเงินหลายคนไม่สนใจขอภาษีชนิดนี้คืน

ใครบ้างที่ต้องจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่าย ให้สรรพากร

แน่นอนว่า ‘ผู้จ่าย’ เป็นคนทำหน้าที่หักจากเงินที่จ่ายและส่งให้สรรพากร หลายคนอาจคิดว่าผู้จ่ายที่ว่านี้หมายถึงบริษัท หรือนิติบุคคลเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว บุคคลธรรมดาก็สามารถเป็นคนจ่ายภาษีชนิดนี้ได้ ขึ้นอยู่ว่าเงินที่เราจ่ายนั้นจ่ายค่าอะไรไปครับ

ต้องหักเมื่อไหร่

เราต้องจ่ายภาษีนี้เมื่อจ่ายเงินเกิน 1,000 บาทในครั้งเดียว หรือหลายครั้งรวมกัน เช่นถ้าเราแบ่งจ่ายค่าจ้างฟรีแลนซ์ 1,000 บาท 2 ครั้ง ครั้งละ 500 บาท เราก็ต้องหักภาษีทั้งสองครั้งด้วย เพราะรวมกันแล้วเกิน 1,000 บาท

ค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่ต้องจ่ายภาษี หัก ณ ที่จ่าย และอัตราการจ่าย

อย่างที่บอกไปว่าภาษีชนิดนี้จะหักก็ต่อเมื่อเราจ่ายเงินในประเภทที่รัฐกำหนด อัตราการเสียภาษีก็จะแตกต่างกันไปตามประเภทด้วยครับ ซึ่งทางรัฐมีกำหนดไว้หลายประเภท แต่หลักๆ แล้ว จะมีดังต่อไปนี้

ค่าจ้าง และเงินเดือน ต่ำสุด 0%

ค่าจ้าง และเงินเดือน ที่บริษัทจ่ายให้กับพนักงานก็ต้องผ่านการหัก ณ ที่จ่ายมาก่อนแล้ว ซึ่งอัตราการหักก็จะขึ้นอยู่กับการคำนวณ โดยการเอาเงินได้ทั้งปี หักค่าลดหย่อนต่างๆ แล้วหักตามอัตราก้าวหน้า เหมือนกับคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครับ ซึ่งผลอาจจะเป็นไม่หักเลย (0%) ก็ได้ ถ้าเงินได้ของพนักงานไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องหัก แต่ถ้าใครที่ไม่ถึงเกณฑ์ แต่ผู้จ่ายหักไปแล้ว ก็สามารถไปขอคืนภาษีจากรัฐได้ครับ

  • กลุ่มนี้ใช้เอกสารภาษี ภ.ง.ด.1 ในการนำส่ง
  • จ่ายทุกวันที่ 7 ของเดือน หรือวันที่ 15 ถ้าเรานำส่งทางออนไลน์
  • ผู้ที่ต้องจ่ายภาษีชนิดนี้คือ บริษัท นิติบุคคล และบุคคลธรรมดา

จ้างทำงานหรือบริการ ต่ำสุด 0%

ข้อนี้หมายถึงการว่าจ้างบุคคลธรรมดาให้ทำอะไรบางอย่างให้ เช่น เป็นรับทำของอะไรบางอย่าง หรือจ้างให้ทำบริการ ข้อนี้ก็ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเหมือนกันนะครับ อัตราการหักจะเหมือนกับในส่วนของเงินเดือนเลย ก็คือคำนวณจากเงินได้ทั้งปี ผลก็เลยอาจจะเป็น 0% ได้เหมือนกัน การทำฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่จะอยู่ในหมวดนี้

  • กลุ่มนี้ใช้เอกสารภาษี ภ.ง.ด.1 ในการนำส่ง
  • จ่ายทุกวันที่ 7 ของเดือน หรือวันที่ 15 ถ้าเรานำส่งทางออนไลน์
  • ผู้ที่ต้องจ่ายภาษีชนิดนี้คือ บริษัท นิติบุคคล และบุคคลธรรมดา

จ้างรับเหมา ทำของ บริการ 3%

คนมักจะสับสนข้อนี้กับ จ้างทำงานหรือบริการ แต่ความแตกต่างก็คือใน จ้างรับเหมา ทำของ ผู้ถูกจ้างจะต้องใช้หรือไปหาอุปกรณ์ของตัวเองมาสิ่งที่ได้รับการว่าจ้าง เช่นถ้าเราได้รับการว่าจ้างให้เขียนโค้ด และผู้ว่าจ้างไม่มีอุปกรณ์เขียนโค้ดให้ ก็จะถือว่าเป็นการจ้างรับเหมาและทำของครับ

  • กลุ่มนี้ใช้เอกสารภาษี ภ.ง.ด.3 ในการนำส่ง
  • จ่ายทุกวันที่ 7 ของเดือน หรือวันที่ 15 ถ้าเรานำส่งทางออนไลน์
  • ผู้ที่ต้องจ่ายภาษีชนิดนี้คือบริษัท และนิติบุคคล

จ้างบริการวิชาชีพอิสระ 3%

ข้อนี้หมายถึงการว่าจ้างจากการประกอบวิชาชีพอิสระ แต่รัฐไม่ได้หมายถึงฟรีแลนซ์ทุกอาชีพนะครับ ภาษีกลุ่มนี้จะครอบคลุมแค่ 6 วิชาชีพเท่านั้น ก็คือ โรคศิลปะ (กลุ่มเวชกรรม เภสัชกรรม ทันกรรม ฯลฯ) ทนายความ วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี และประณีตศิลป์ กลุ่มพวกนี้ก็จะหัก 3% ในขณะที่ถ้าเราทำฟรีแลนซ์อาชีพอื่น ก็จะหักตามหมวด จ้างทำงานหรือบริการ

  • กลุ่มนี้ใช้เอกสารภาษี ภ.ง.ด.3 ในการนำส่ง
  • จ่ายทุกวันที่ 7 ของเดือน หรือวันที่ 15 ถ้าเรานำส่งทางออนไลน์
  • ผู้ที่ต้องจ่ายภาษีชนิดนี้คือบริษัท และนิติบุคคล

ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ 5%

ถ้าเราเช่าออฟฟิศ หรือสถานที่ที่เรามีสิทธิในการถือกุญแจ ก็จะนับเป็นอัตราภาษี 5% เพราะถ้าเป็นแค่สถานที่ที่เราไม่มีสิทธิในการถือกุญแจ เช่นการเช่าสถานที่เพื่อจัดงานสัมมนา หรือจัดอีเวนต์ กฎหมายจะถือว่ามันอยู่ในหมวดจ้างบริการ ซึ่งจะหัก 3% แทน

  • กลุ่มนี้ใช้เอกสารภาษี ภ.ง.ด.3 ในการนำส่ง
  • จ่ายทุกวันที่ 7 ของเดือน หรือวันที่ 15 ถ้าเรานำส่งทางออนไลน์
  • ผู้ที่ต้องจ่ายภาษีชนิดนี้คือบริษัท และนิติบุคคล

ค่าโฆษณา 2%

ก็คือการจ้างให้บริษัท หรือเอเจนซี่โฆษณา มาโฆษณาให้เราผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งภาษีกลุ่มนี้จะหักแค่ 2% เท่านั้น

  • กลุ่มนี้ใช้เอกสารภาษี ภ.ง.ด.53 ในการนำส่ง
  • จ่ายทุกวันที่ 7 ของเดือน หรือวันที่ 15 ถ้าเรานำส่งทางออนไลน์
  • ผู้ที่ต้องจ่ายภาษีชนิดนี้คือบริษัท และนิติบุคคล

ค่าขนส่ง 1%

จ่ายทุกครั้งที่มีการว่าจ้างบริการขนส่ง โดยที่ต้องเป็นบริษัทขนส่งเอกชน และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการขนส่ง เช่น บริการขนส่งสินค้าจากบริษัท โลจิสติกส์ เป็นต้น

  • กลุ่มนี้ใช้เอกสารภาษี ภ.ง.ด.53 ในการนำส่ง
  • จ่ายทุกวันที่ 7 ของเดือน หรือวันที่ 15 ถ้าเรานำส่งทางออนไลน์
  • ผู้ที่ต้องจ่ายภาษีชนิดนี้คือบริษัท และนิติบุคคล

ความรู้ชุดนี้น่าจะเป็นประโยชน์ให้กับคนที่กำลังสับสนเรื่องภาษีหัก ณ ที่จ่าย เพราะถ้าไม่มีข้อมูลอะไรเลยก็คงจะไม่เข้าใจว่าแต่ละประเภทก็มีอัตราการหักภาษีที่แตกต่างกันไป และถึงแม้ว่าเราจะไม่ใช่นิติบุคคล เราอาจจะต้องหักภาษีชนิดนี้ด้วยเหมือนกัน ทั้งผู้ประกอบการ และคนทั่วไปต่างก็ควรต้องรู้จักภาษีหัก ณ ที่จ่ายไว้ เพราะถ้าเราไม่รู้ เราอาจจะหักภาษีผิด ทำให้เสียเงินไปจากความไม่รู้ได้ครับ

โปรแกรมบัญชี ฟังก์ชันที่ตอบโจทย์สำนักงานบัญชี นักบัญชี!


บทความโดย : www.peerpower.co.th

 941
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

รายการที่นิติบุคคลสามารถนำมาลดหย่อนภาษีจุดมุ่งหมายเช่นเดียวกับ การลดหย่อนภาษีสำหรับบุคคลธรรมดา ทั้งนี้เพื่อให้การชำระภาษีในปีนั้น ๆ มีจำนวนน้อยลง เพราะมีการหักค่าใช้จ่ายในแต่ละปีภาษีมากขึ้น ต่างกันเพียงแค่รายการที่นิติบุคคลสามารถนำมาลดหย่อนแตกต่างจากบุคคลธรรมดาเท่านั้น โดยรายการที่นิติบุคคลสามารถนำมาลดหย่อนได้ มีดังนี้
อยากวางแผนภาษีของกิจการให้ดี แต่ไม่รู้เลยว่าเจ้าหน้าที่สรรพากรจะรับรู้รายได้ที่เรามีได้อย่างไร คุณกำลังเป็นแบบนี้อยู่ใช่มั้ย?
“ภาษี” เป็นรายจ่ายตัวหนึ่งที่สำคัญมากแล้วทุกคนต้องจ่าย นั่นก็คือ รายจ่ายเรื่อง “ภาษี” แต่ก็อย่างที่เรารู้กันว่าภาษีเป็นเรื่องที่ทุกคนยังไงก็ต้องจ่าย ไม่ว่าจะเป็นทางตรงอย่างช่วงต้นปีของทุกปีเราก็ต้องรายงานกับสรรพากรว่าเรามีรายได้เท่าไหร่ ต้องเสียภาษีเท่าไหร่ ถ้าใครจ่ายเกินไปก็ขอคืนได้ ถ้าใครจ่ายภาษีขาดไปก็จ่ายเพิ่ม หรือจะเป็นภาษีทางอ้อมที่บางครั้งก็จ่ายแบบไม่รู้ตัว เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เวลาเราไปกินข้าวตามร้านค้าต่างๆแล้วมักจะมีตัวนี้แฝงมาด้วย
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ และหมายความรวมถึงนิติบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ด้วย
โดยปกติแล้วเมื่อกิจการมีรายได้เกิดขึ้น จะต้องรับรู้รายได้โดยการนำรายได้ดังกล่าวไปบันทึกบัญชี ไปคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในงบกำไรขาดทุน รายได้ที่ต้องนำไปคำนวณกำไรสุทธิมักจะได้แก่ รายได้จากการขาย รายได้จากการให้บริการ และรายได้อื่น
การบริจาค ถือเป็นการให้และการเสียสละที่สามารถช่วยเหลือสังคม ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือสนับสนุนกิจการสาธารณกุศล สาธารณะประโยชน์ การศึกษา และการกีฬา โดยไม่มุ่งหวังสิ่งตอบแทนนอกจากจะทำให้ผู้ให้มีความสุขแล้ว ยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์