โดยปกติแล้วเมื่อกิจการมีรายได้เกิดขึ้น จะต้องรับรู้รายได้โดยการนำรายได้ดังกล่าวไปบันทึกบัญชี ไปคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในงบกำไรขาดทุน รายได้ที่ต้องนำไปคำนวณกำไรสุทธิมักจะได้แก่ รายได้จากการขาย รายได้จากการให้บริการ และรายได้อื่น
ปัญหาของรายได้อื่นซึ่งเป็นรายได้ที่เกิดจากผลพลอยได้จากการประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่การประกอบธุรกิจโดยตรง เป็นรายได้ทางอ้อม เช่น
1. กำไรจากการจำหน่ายทรัพย์สินเมื่อกิจการได้มีการนำทรัพย์สินออกจำหน่าย จะต้องนำมูลค่าตามบัญชีของทรัพย์สิน (Book Value) ซึ่งเป็นราคาทุนของทรัพย์สินหักด้วยค่าเสื่อมราคาสะสมจนถึงวันจำหน่ายทรัพย์สินนั้น นำมาหักออกจากมูลค่าที่ขายได้ หากมูลค่าที่ขายได้สูงกว่าราคาตามบัญชี ผลต่างที่เกิดขึ้นถือเป็นกำไรจากการจำหน่ายทรัพย์สิน ในทางตรงข้ามหากมูลค่าที่ขายได้ต่ำกว่าราคาตามบัญชี ผลต่างที่เกิดขึ้นถือเป็นขาดทุนจากการจำหน่ายทรัพย์สิน
2. กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเมื่อกิจการมีผลแตกต่างของอัตราแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นอันเนื่องจากการแปลงค่าเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย ซึ่งจะทำให้มีผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนในการรับรู้เป็นรายได้หรือค่าใช้จ่ายในงวดบัญชีที่เกิดขึ้นในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี เมื่อสิ้นรอบบัญชีกิจการจะต้องแปลงค่าเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย โดยเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่รับมาหรือจ่ายไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ให้ใช้วิธีการคำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทยตามราคาตลาดในวันที่รับมาหรือจ่ายไปนั้น
3. ดอกเบี้ยรับดอกเบี้ยรับเป็นรายได้ที่อาจเกิดจากการนำเงินไปฝากธนาคาร การให้กู้ยืมเงิน หรือนำเงินของกิจการไปหาประโยชน์ เช่น นำไปซื้อพันธบัตร นำไปฝากตั๋วสัญญาใช้เงิน ผลประโยชน์ที่ได้ก็คือ ดอกเบี้ยซึ่งต้องถือเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ข้อสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ ดอกเบี้ยดังกล่าวไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
4. เงินปันผลหรือส่วนแบ่งกำไรเมื่อกิจการได้นำเงินไปลงทุนในกิจการอื่น ต่อมากิจการนั้นมีกำไรเกิดขึ้นได้มีการจ่ายเงินปันผล เงินปันผลที่กิจการได้รับถือเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยทั่วไปแล้วเงินปันผลที่ได้รับจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 ซึ่งกิจการมีสิทธินำไปเครดิตภาษีปลายปีได้ อย่างไรก็ดีเงินปันผลจะยกเว้นไม่ถือเป็นรายได้จะต้องเข้าเงื่อนไขตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร
5. ค่าปรับหรือดอกเบี้ยที่ผิดสัญญาเมื่อกิจการได้มีการขายสินค้า ให้บริการ หรือซื้อสินค้า รับบริการ แล้วมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากการส่งมอบสินค้าหรือบริการ หรือเกิดการชำระเงินล่าช้า จึงได้มีการคิดค่าปรับ หรือดอกเบี้ยที่ผิดนัดผิดสัญญา ดอกเบี้ยหรือค่าปรับดังกล่าวต้องนำมาถือเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเนื่องจากไม่ใช่การขายสินค้าหรือบริการ
สามารถอ่านบทความน่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี่ คลิ๊ก!
ที่มา : Link