7 ทักษะ Soft skills ที่นักวิชาชีพตรวจสอบบัญชี (Auditor) ควรมี

7 ทักษะ Soft skills ที่นักวิชาชีพตรวจสอบบัญชี (Auditor) ควรมี


Hard Skills
 คือ ความรู้ ความสามารถ และทักษะเฉพาะทางที่เราร่ำเรียนมาหรือศึกษาหาความรู้มาจนเกิดเป็นความสามารถ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในตำแหน่งงานหรืออาชีพนั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น อาชีพบัญชีก็ต้องมีความรู้ในการจัดทำบัญชีและตรวจสอบงบการเงิน, อาชีพวิศวกรรมโยธาต้องมีทักษะในการออกแบบวางแผนและควบคุมงานก่อสร้าง, อาชีพโปรแกรมเมอร์ต้องมีทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์และการเขียนโปรแกรม เป็นต้น

Hard Skills เป็นทักษะทางวิชาชีพที่ใช้เฉพาะกับงานด้านนั้น ๆ เป็นทักษะที่สามารถสอนและวัดผลความรู้หรือวัดความสามารถนั้นออกมาได้เป็นตัวเลขเชิงสถิติได้ชัดเจน เช่น วัดเป็นเกรด ผลการปฏิบัติงาน ระดับความรู้ความสามารถในวิชาชีพนั้น ๆ เป็นต้น

Soft Skills คือ ทักษะหลากหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับความสามารถของมนุษย์ที่เกี่ยวกับภาวะทางอารมณ์ หรือ EQ (Emotional Quotient) เป็นคุณลักษณะส่วนบุคคลต่าง ๆ เช่น การสื่อสาร ความสามารถในการปรับตัว ความคิดฉลาดทางอารมณ์ เป็นต้น ซึงเป็นทักษะที่สำคัญของคนทำงานยุคใหม่ ที่จะช่วยให้บุคคลากรสามารถร่วมงานและสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลต่อความสำเร็จในงานตามที่องค์กรมุ่งหวัง 

Soft Skills เป็นทักษะที่เป็นคุณสมบัติภายในที่ดีของมนุษย์เป็นหลัก ทำให้มีความสามารถที่จะทำงานร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างราบรื่นและเมื่อมีทักษะเหล่านี้แล้ว บุคคลนั้น ๆ จะสามารถนำทักษะที่มีไปประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวางในหลากหลายสาขาอาชีพ Soft Skills เป็นทักษะที่วัดผลได้ยากกว่า เพราะเป็นทักษะที่เกิดจากคุณสมบัติภายใน และพฤติกรรมส่วนบุคคล

Soft skills คือทักษะสำคัญในยุคดิจิทัล

การทำงานในปัจจุบัน ที่คนส่วนใหญ่เรียกว่ายุคดิจิตอลนั้น เราจะเก่งเฉพาะทักษะด้าน Hard Skills เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องมี Soft skills ด้วย เพราะหากเราเรียนจบมาได้เกรดเฉลี่ยสูง ได้เกียรตินิยม แต่กลับมีเพียงทักษะด้าน Hard Skills ที่ถูกพัฒนาขึ้นมา เราก็จะเป็นคนเก่งที่ทำงานเก่งด้วยตัวคนเดียว แต่ทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ไม่ได้ ถ้าไม่มีทักษะด้าน Soft skill ที่ดี เช่นการสื่อสารที่ดี การควบคุมอารมณ์ที่ดี เป็นต้น  

ดังนั้นเราไปดูกันว่า 7 ทักษะ Soft skills ที่นักวิชาชีพตรวจสอบบัญชี (Auditor) ควรมีนั้น มีอะไรบ้าง

1.การบริหารเวลา (Time management)

ทักษะการบริหารเวลา เป็น Soft skills ที่จำเป็นสำหรับงาน Audit เนื่องจากงานตรวจสอบบัญชีจะมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าและมีการกำหนดระยะเวลาที่ส่งมอบงานที่ชัดเจน ภายใต้สถานการณ์ที่ควบคุมได้ยาก เช่น ความพร้อมของลูกค้า การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ หรือการเปลี่ยนแปลงในมาตรฐานวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ซึ่งแต่ละวันมีเวลาจำกัดแค่ 24 ชั่วโมง เราจะใช้เวลาอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น Auditor จึงต้องมีทักษะในการวางแผน ควบคุม กำหนดระยะเวลา และจัดลำดับความสำคัญของงานให้ชัดเจน รวมถึงควบคุมตัวเองให้มีวินัยจนทำตามแผนที่วางไว้ได้ด้วย เพื่อทำให้งานสำเร็จตามเป้าหมายในเวลาที่กำหนด

2. การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning)

การเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับงาน audit และอีกหลายๆวิชาชีพในปัจจุบัน เนื่องจากการพัฒนาที่ก้าวกระโดดของเทคโนโลยีทำให้เกิดนวัตกรรม เกิดธุรกิจใหม่ๆ ตลอดจนวิธีการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงตามที่กล่าวมา มีผลกระทบต่อวิชาชีพ audit ทั้งในด้านรายการค้าของลูกค้า มาตรฐานวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีผลทำให้วิธีการทำงานเปลี่ยนแปลงไป

ดังนั้น Auditor จึงต้องมีการเตรียมพร้อมและเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา โดยต้องหมั่นพัฒนาความรู้ทางวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอ และเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อเอาความรู้ที่หลากหลายมาประยุกต์ใช้ร่วมกัน และหาแนวทางใหม่ ๆ ในการทำงาน เพื่อให้เกิดความสำเร็จของงานทั้งด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผล

3. การทำงานร่วมกับผู้อื่น (Collaboration)

เนื่องจากงาน Audit เป็นงานที่ต้องทำกันเป็นทีม อีกทั้งยังต้องทำงานร่วมกันกับลูกค้า และกับคนที่หลากหลาย ทั้งในแง่ของสายงาน และช่วงวัยที่ต่างกัน หรือรูปแบบการทำงานที่ไม่เหมือนกัน

ดังนั้น Auditor จึงต้องมีทักษะในการทำงานร่วมกับคนอื่นไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกันภายในทีมตัวเองและการทำงานร่วมกับคนอื่น ๆ เพราะเมื่อเราสามารถปรับตัวเองให้ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ ก็จะได้รับความร่วมมือ การยอมรับ และความช่วยเหลือต่าง ๆ ในการทำงาน เพื่อให้ได้ผลงานที่มีประสิทธิภาพและแล้วเสร็จในเวลาที่กำหนด

4. ทักษะการสื่อสาร (Communication Skill)

งาน Audit เป็นงานที่ต้องใช้ทักษะในการสื่อสารค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนองาน การเสนอความคิดเห็นทั้งกับหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน และการสรุปงานกับลูกค้า ซึ่งการมีทักษะการสื่อสารที่ดี ที่ถูกต้อง ตรงประเด็นและมีประสิทธิภาพจะช่วยให้เกิดความร่วมมือและการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการทำงาน ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพและเป็นไปอย่างราบรื่น

ดังนั้น Auditor จึงต้องมีทักษะในการสื่อสาร โดยเราต้องรู้ว่าเรื่องที่ต้องการจะสื่อสารออกไปนั้นใจความสำคัญคืออะไร ใครเป็นผู้รับสาร ควรใช้วิธีและภาษาแบบไหนในการสื่อสาร นอกจากนั้นยังรวมไปถึงทักษะการประสานงานและการเจรจาต่อรองด้วย ว่าจะใช้การเจรจาอย่างไรเพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

5. ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence)

จากข้อ 4 งาน Audit เป็นงานที่ต้องมีการสื่อสารกับการผู้อื่นค่อนข้างมาก ดังนั้น ความฉลาดทางอารมณ์หรือ EQ จึงสำคัญและส่งผลอย่างมากต่อการทำงาน เพราะคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ จะมีความสามารถในการสังเกต ทำความเข้าใจ จัดการ และแสดงออกทางอารมณ์ของตัวเองได้อย่างดี รวมถึงสังเกตและทำความเข้าใจอารมณ์ของคนอื่นด้วย

ดังนั้นความฉลาดทางอารมณ์ จึงเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับอาชีพ Audit เนื่องจากทักษะนี้จะช่วยให้คนทำงานสามารถควบคุมอารมณ์และแสดงออกได้อย่างเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์ รวมไปถึงการบริหารจัดการกับความเครียด ที่จะส่งผลต่อการสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมาได้อย่างมีคุณภาพ

6. ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability)

ลักษณะงาน Audit เป็นงานที่ต้องทำงานร่วมกันกับคนมากมาย ที่มีความแตกต่างทั้งทางวัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อ และพื้นฐานครอบครัว อีกทั้งในยุคดิจิตอล ทุกอย่างถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือในการทำงาน หรือรูปแบบการติดต่อสื่อสาร ข่าวสารที่ไม่เคยหยุดนิ่ง มีอะไรใหม่ ๆ เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงให้เราต้องเรียนรู้และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้นความสามารถในการปรับตัวและมีความยืดหยุ่นทางความคิดจึงสำคัญมากกับอาชีพ Audit โดยคนที่มีทักษะในการปรับตัวและเปลี่ยนมุมมองความคิด จะสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น และยังสามารถพลิกแพลงหาวิธีที่เหมาะสมกับสถานการณ์หรือเหตุการณ์ต่าง ๆได้เป็นอย่างดี

7. การคิดเชิงวิเคราะห์และเลือกตัดสินใจ (Analytical Thinking and Decision-making)

งาน Audit เป็นงานที่ต้องใช้ทักษะในการวิเคราะห์อยู่แล้วในเบื้องต้น อีกทั้งมาตรฐานทางวิชาชีพในปัจจุบันจะเป็นหลักการ principle-based approach คือการตีความถึงหลักการที่ควรจะเป็น และการนำหลักการไปปฏิบัติให้เหมาะสม นอกจากนี้ในยุคปัจจุบันที่ข้อมูลถือเป็นสิ่งสำคัญ และมีอยู่จำนวนมาก ทั้งข้อมูลชุดเก่าที่ต้องค้นคว้า รวมไปถึงข้อมูลใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน การมีทักษะคิดเชิงวิเคราะห์นั้น จะทำให้สามารถช่วยย่อยข้อมูลที่มีอยู่จำนวนมาก ให้เข้าใจได้ง่าย เป็นขั้นเป็นตอน

ดังนั้นทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์และเลือกตัดสินใจ จึงเป็นทักษะที่สำคัญในงานวิชาชีพ Audit โดยเราจะต้องรู้จักตั้งคำถามเชิงวิเคราะห์ ประมวลผลข้อมูล และตีความ จะช่วยให้เราสามารถย่อยข้อมูลจำนวนมากได้ เมื่อย่อยข้อมูลได้เป็นหมวดหมู่ชัดเจนแล้ว ก็จะส่งผลให้สามารถเลือกวิเคราะห์ข้อมูลและตัดสินใจได้ถูกต้องแม่นยำกว่าเดิม

เราจะพัฒนา Soft skills ได้อย่างไร

1. เรียนรู้ที่จะบริหารจัดการเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ การวางแผนการทำงานและการบริหารเวลาที่ดีจะช่วยทำให้มีเวลางานที่มีคุณภาพและมีเวลาสำหรับตนเองและครอบครัวเพิ่มขึ้น โดยการจัดลำดับความสำคัญของงาน งานใดควรทำทันที งานใดควรมอบหมายให้ผู้ช่วยทำ การใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพไม่ได้หมายความว่าทำงานได้จำนวนชิ้นงานมากหรือกิจกรรมจำนวนมาก แต่ หมายถึง การได้ทำสิ่งที่สำคัญอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง เนื่องจากงานแต่ละงานมีความสำคัญไม่เท่ากัน หากเราคิดว่าทุกงานสำคัญเท่ากันหรือไม่ได้โฟกัสกับงานที่สำคัญ อาจทำให้เรายุ่งตลอดเวลาและได้ผลลัพธ์ไม่คุ้มกับเวลา

2. พยามยามเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ เพราะในปัจจุบันโลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา การบอกลาสิ่งเก่าๆ และการค้นพบสิ่งใหม่จึงเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ

3. หมั่นเรียนรู้วิทยาการใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ และติดตามการเปลี่ยนแปลงเรื่องที่เกี่ยวกับสายงานอาชีพตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อพัฒนาศักยภาพตนเองให้เท่าทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน

4. เรียนรู้การปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนร่วมงานและสภาพแวดล้อม ฝึกวางตนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ยิ้มแย่มแจ่มใส เป็นมิตรกับคนรอบข้าง พูดจาไพเราะ อ่อนน้อมถ่อมตน ช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อมีโอกาสโดยไม่เบียดเบียนงานประจำของตัวเอง

5. หากิจกรรมทำยามว่างเพื่อเป็นการคลายเครียดและผ่อนคลายอารมณ์ เช่น ออกกำลังกาย ฟังเพลง ดูหนัง หรือปลูกต้นไม้ เป็นต้น

สุดท้ายนี้ทักษะด้าน soft skills เป็นทักษะที่ทุกคนควรมี เพราะเป็น Skills ที่ AI (Artificial Intelligence:ปัญญาประดิษฐ์) ยังแทนที่ได้ยากและมนุษย์ทุกคนฝึกได้ ไม่เหมือนกับทักษะด้าน Hard skill บางอย่างซึ่งในอนาคตสามารถใช้ AI ทำแทนได้ แถม Soft skills นี้ยังจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ใช่แค่เรื่องงานอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องความสัมพันธ์กับคนรอบตัวด้วย 

สามารถอ่านบทความน่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี่ คลิ๊ก!!

บทความโดย : อริสา ชุมวิสูตร บริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด

 672
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบันนี้ผู้คนจำนวนมากเลือกหันหลังให้กับการทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนหรือมนุษย์ออฟฟิศแล้วเปลี่ยนมาทำธุรกิจจดทะเบียนบริษัทเป็นของตัวเองเพราะต้องการเป็นนายตัวเองและอยากมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเป็นเจ้าของธุรกิจ จึงจะเห็นว่าเจ้าของธุรกิจหลายคนไม่ได้เป็นคนที่มีความรู้พื้นฐานในการทำธุรกิจตั้งแต่แรก แต่หันมาเริ่มต้นตั้งใจและให้ความสนใจพร้อมกับมุ่งมั่นในการหาความรู้เพื่อสร้างธุรกิจของตนเองจนเรียกได้ว่าวันนี้มีธุรกิจ Start up มากมายที่มีแนวโน้มจะก้าวทันรายใหญ่ อย่างไรก็ตามในการทำธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งไม่เพียงอาศัยความรู้หรือวางแผนบริหารจัดการองค์กร วางแผนการโฆษณาหรือสร้างแบรนด์เพื่อแจ้งเกิดให้กับบริษัทหรือเพื่อเพิ่มรายได้ผลกำไรเท่านั้น ยังมีเรื่องสำคัญอย่างการจดทะเบียนธุรกิจและอีกเรื่องหนึ่งที่คนทำธุรกิจไม่สามารถมองข้ามไปได้เพราะนับว่าเป็นผลต่อการทำธุรกิจในระยะยาว กล่าวคือต้องรู้เพื่อไม่ให้พลาดและเป็นการทำตามกฎหมายที่ได้กำหนดนั่นคือการยื่นหนังสือบริคณห์สนธิ เอกสารสำคัญที่แสดงให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งบริษัทหรือธุรกิจนั้น ๆ ทั้งนี้ยังถือว่าเป็นการสร้างความไว้วางใจให้กับคู่ค้าหรือสร้างความน่าเชื่อถือได้อีกระดับ มาดูกันว่า“หนังสือบริคณห์สนธิ”คืออะไรมาทำความเข้าใจง่าย ๆ ในบทความนี้กันได้เลย
เนื้อหาที่จะนำมาแบ่งปันให้ได้เรียนรู้ร่วมกันในครั้งนี้ เป็นเรื่องของ ‘ค่าเสื่อมราคา’ ที่ผมเองก็มักจะได้เห็น และได้พบปัญหาที่เกิดจากความเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อน หรือมีแนวปฏิบัติที่ออกจะสับสนไม่สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชี และแนวปฏิบัติของกรมสรรพากรตามที่ควรจะเป็น ซึ่งเมื่อพูดถึง ‘ค่าเสื่อมราคา’ เราจะสามารถแบ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องออกเป็นสองส่วนด้วยกันคือ ประเด็นที่เกี่ยวกับหลักการบัญชี กับหลักการภาษี ซึ่งสรุปเป็นภาพรวมแบบนี้ครับว่า
ภายใต้หลักการที่ว่าการจัดทำบัญชีให้ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายและมาตรฐานการบัญชีนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่สามารถสะท้อนผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงินที่แท้จริงของกิจการได้ จากการสำรวจเบื้องต้น พบว่า
การจัดทำรายงานเงินสดรับ-จ่าย ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 161) กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีเงินได้พึงประเมิน ตาม มาตรา 40(5)-(8) แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร
สมุห์บัญชีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย จะต้องตรวจสอบอยู่เสมอว่า บัญชีย่อยเจ้าหนี้จะมียอดรวมตรงกับบัญชีคุมยอดเจ้าหนี้การค้า...

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์