ความแตกต่างระหว่าง ภ.ง.ด.50 และ ภ.ง.ด.51

ความแตกต่างระหว่าง ภ.ง.ด.50 และ ภ.ง.ด.51

ภ.ง.ด.50 เป็นแบบภาษีที่เอาไว้ยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลตอนปลายปี ส่วน ภ.ง.ด.51 เป็นแบบภาษีที่เอาไว้ยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลตอนกลางปี

ภ.ง.ด 50 คืออะไร?

ตามกฎหมายแล้วนิติบุคคล (เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด) มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้เงินนิติบุคคล ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้นิติบุคคลเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลปีละ 2 ครั้งคือตอนกลางปี และตอนปลายปี

สำหรับการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตอนปลายปีนั้นจะต้องใช้แบบ ภ.ง.ด. 50 เป็นแบบที่ผู้ประกอบการต้องกรอก เซ็นรับรองแบบโดยกรรมการหรือฝ่ายบัญชี ผู้สอบบัญชี และต้องแนบงบการเงินที่มีผู้สอบบัญชีเซ็นรับรอง เพื่อนำส่งกรมสรรพากร โดยตามกฎหมายนิติบุคคลมีหน้าที่นำส่งแบบดังกล่าวภายใน 150 วัน ยกตัวอย่างเช่น หาก บริษัท Z จำกัด ปิดงบประจำปีวันที่ 31 ธันวาคม บริษัท Z จำกัด ก็มีหน้าที่ต้องนำส่งแบบ ภ.ง.ด.50 ภายในวันที่ 30 พฤษภาคม ของปีถัดไป (150 วันนับจากวันที่ 31 ธันวาคม)

หลักการในการกรอกแบบ ภ.ง.ด.50 คือผู้ประกอบการ/ผู้ทำบัญชี จะต้องหากำไรทางภาษีมาคูณกับอัตราภาษีและนำมากรอกในแบบ ภ.ง.ด.50

ภาษีเงินได้นิติบุคคล = กำไรทางภาษี x อัตราภาษี  

วิธีการกรอกแบบ ภ.ง.ด.50

สำหรับตัวอย่างแบบ ภ.ง.ด.50 และวิธีการในการกรอกแบบ ทุกท่านสามารถดูรายละเอียดจากกรมสรรพากรตามลิงค์นี้ได้เลยครับ : วิธีการกรอกแบบ ภ.ง.ด.50

ภ.ง.ด. 51 คืออะไร?

ตามที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่าตัวภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นจะต้องยื่น 2 ครั้งนั่นคือกลางปีและปลายปี ภ.ง.ด.51 เป็นแบบภาษีที่เอาไว้ยื่นตอนกลางปี ซึ่งตัวแบบดังกล่าวจะต้องเซ็นรับรองแบบโดยกรรมการหรือฝ่ายบัญชี เพื่อนำส่งกรมสรรพากร ตามกฎหมายนิติบุคคลมีหน้าที่นำส่งแบบดังกล่าวภายใน 2 เดือนนับจากวันที่กลางปี ยกตัวอย่างเช่น หาก บริษัท Y จำกัด ปิดงบประจำปีวันที่ 31 ธันวาคม กลางปีคือวันที่ 30 มิถุนายน ดังนั้นบริษัท Y จำกัด ก็มีหน้าที่ต้องนำส่งแบบ ภ.ง.ด.51 ภายในเดือน สิงหาคม ของทุกปี (2 เดือนนับจากเดือนมิถุนายน)

วิธีการกรอกแบบ ภ.ง.ด. 51

สำหรับการกรอกแบบ ภ.ง.ด.51 จะมีรายละเอียดเพิ่มเติมที่ควรทราบคือ การคำนวณภาษีกลางปีจะมี 3 รูปแบบให้เลือกคือ

  1. กรณีเสียภาษีจากกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิ
  2. กรณีเสียภาษีจากกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีหกเดือนแรก
  3. กรณีเสียภาษีจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย

สำหรับกรณีแรก : กรณีเสียภาษีจากกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิ จะเอาไว้ใช้สำหรับนิติบุคคลทั่วๆไปที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ได้เป็นธนาคาร ไม่ได้เป็นธุรกิจหลักทรัพย์ หรือไม่ได้เป็นธุรกิจประกันภัย โดยให้ประมาณการกำไรสุทธิประจำปี แล้วเอามาเสียภาษีครึ่งหนึ่ง

สำหรับเหตุผลที่จะใช้ประมาณการกำไร เนื่องจากว่าบริษัทกลุ่มนี้ โดยมากแล้วจะปิดบัญชีกันปีละหนึ่งครั้งคือตอนสิ้นปีทีเดียว ดังนั้นจึงยังไม่มีตัวเลขกำไรที่แท้จริงในรอบครึ่งปีที่ผ่านมา จึงต้องเสียภาษีจากประมาณการกำไรสุทธิประจำปี แล้วเอามาเสียภาษีครึ่งหนึ่งไปก่อน

สำหรับกรณีที่สอง : กรณีเสียภาษีจากกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีหกเดือนแรก บริษัทกลุ่มนี้ เช่น บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ธนาคาร ธุรกิจหลักทรัพย์ หรือประกันภัย ให้เสียภาษีจากกำไรที่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีแรก

สำหรับเหตุผลที่จะใช้กำไรที่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากว่าบริษัทกลุ่มนี้ โดยมากแล้วจะปิดบัญชีกันทุกๆเดือนและจะต้องมีผู้สอบบัญชีมาสอบทาน/ตรวจสอบงบการเงินอย่างน้อยไตรมาศละครั้ง ดังนั้นบริษัทกลุ่มนี้จึงมีตัวเลขกำไรที่แท้จริงในรอบครึ่งปีที่ผ่านมา จึงต้องเสียภาษีจากกำไรที่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีแรกได้

สำหรับกรณีที่สาม : กรณีเสียภาษีจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย สำหรับผู้เสียภาษีในกรณีนี้จะมีอยู่ 2 ประเภทหลักๆดังนี้

  1. กิจการขนส่งระหว่างประเทศของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศ
  2. มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการแล้วมีรายได้

ฐานภาษีของนิติบุคคล กลุ่มนี้จะเสียภาษีจากรายรับก่อนหักรายจ่ายครับ และในการยื่นแบบเพื่อเสียภาษีตอนปลายปี หากเป็นกิจการขนส่งระหว่างประเทศของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศจะใช้แบบ ภ.ง.ด.52 หากเป็น มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการแล้วมีรายได้ จะใช้แบบ ภ.ง.ด.55 โดยจะต้องนำส่งภาษีภายใน 150 วันนับจากวันที่สิ้นรอบบัญชีครับ

สำหรับตัวอย่างแบบ ภภ.ง.ด.51 และวิธีการในการกรอกแบบ ทุกท่านสามารถดูรายละเอียดจากกรมสรรพากรตามลิงค์นี้ได้เลยครับ : วิธีการกรอกแบบ ภ.ง.ด.51

สรุป

สำหรับท่านที่ยังสงสัยว่า แบบ ภ.ง.ด.50 และ แบบ ภ.ง.ด.51 คืออะไร? สามารถสรุปง่ายๆได้แบบนี้ครับว่า ภ.ง.ด.50 เป็นแบบที่เอาไว้ใช้ยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลตอนปลายปี ส่วนแบบ ภ.ง.ด.51 เป็นแบบที่เอาไว้ใช้ยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลตอนกลางปี


สามารถอ่านบทความน่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี่ คลิ๊ก!!



บทความโดย : tanateauditor.com

 8726
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

มีผู้ประกอบการหลายท่านที่ทำเอกสารต่างๆเอง ยื่นภาษีเอง มีความรู้ทางด้านภาษีเป็นอย่างดี และไม่อยากเสียเงินจ้างนักบัญชี และก็มีคำถามมาตลอดว่าสามารถทำบัญชีเองได้รึป่าว วันนี้แอดเลยสรุปให้ง่ายๆฉบับนักบัญชียุคใหม่
ทุกๆ ปีของการนำส่งงบการเงิน เมื่อพูดถึงเรื่องการยื่นงบการเงิน นักบัญชีก็ต้องนึกถึงการยื่น บอจ.5 ควบคู่มาด้วย แล้วก็จะมีคำถามต่อว่า แล้ว บอจ.5 คืออะไร ต้องยื่นทำไม ในการทำธุรกิจในรูปแบบของนิติบุคคล ก็จะมีผู้ถือหุ้นหลายคน แล้วแต่ว่าแต่ละกิจการจะตกลงกัน ซึ่งการยื่นบอจ.5 ก็เป็นเหมือนการยืนยันในทุกๆปีว่า รายชื่อผู้ถือหุ้นปัจจุบันนี้ คือใครบ้าง แล้วสัดส่วนหุ้นคนละเท่าไหร่ ก็เลยมีความจำเป็นที่จะต้องนำส่งข้อมูลในทุกๆ ปีค่ะ เราไปดูรายละเอียดกัน
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ และหมายความรวมถึงนิติบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ด้วย
ความหมายของ สินค้าคงเหลือในทางการบัญชี คือ ทรัพย์สินที่กิจการมีไว้เพื่อขาย หรืออาจให้ความหมายโดยละเอียดยิ่งขึ้นว่า สินค้าคงเหลือ คือ “สินค้าสำเร็จรูป งานหรือสินค้าระหว่างทำ วัตถุดิบ และวัสดุใช้ในการผลิตเพื่อขายตามปกติของกิจการ 
ทุกธุรกิจจะต้องจัดทำบัญชีขึ้นมาเพื่อนำไปยื่นเสียภาษี ยื่นกู้เงิน และเพื่อเป็นการตรวจสอบรายการรายรับรายจ่ายให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด เนื่องจากการทำบัญชีเดียวทำให้สรรพากรสามารถตรวจสอบบัญชีได้ง่ายกว่า และเป็นการทำบัญชีที่สุจริตที่ใคร ๆ ก็สามารถเห็นที่มาการเข้าออกของเงินได้อย่างสุจริต และไม่เป็นการจงใจหลีกเลี่ยงภาษี

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์