มรรยาท (จรรยาบรรณ) ของ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต กฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในพระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี พ.ศ.2505 ได้กำหนดมรรยาทของผู้สอบบัญชี ไว้ 5 หมวด คือ รายละเอียดข้อกำหนดและคำชี้แจง แต่ละหมวด มีดังต่อไปนี้
1. ความเป็นอิสระ ความเที่ยงธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต
คำชี้แจงหลักการพื้นฐาน ความเป็นอิสระ ความเที่ยงธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต ในการตรวจสอบและเสนอรายงานการสอบบัญชี ผู้สอบบัญชีต้องรักษาไว้ซึ่งความเป็นอิสระ ความเที่ยงธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อให้ผลงานของผู้สอบบัญชีเป็นที่เชื่อถือได้
ความเป็นอิสระ หมายถึง การที่ผู้สอบบัญชีสามารถวางแผนการตรวจสอบและใช้วิธีการตรวจสอบต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งหลักฐานที่เพียงพอตลอดจนแสดงความเห็นในรายงานการสอบบัญชี โดยไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลใดๆ ความเป็นอิสระนี้จะต้องเป็นที่ประจักษ์ต่อบุคคลทั่วไปด้วยว่า ผู้สอบบัญชีไม่มีส่วนได้เสียในกิจการที่ตนสอบบัญชี เพื่อให้ผลงานของผู้สอบบัญชี เป็นที่เชื่อถือได้และเป็นประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร เจ้าหนี้ นักลงทุน และผู้อื่นที่ใช้งบการเงิน
ความเที่ยงธรรม หมายถึง การใช้ดุลยพินิจโดยปราศจากความลำเอียง และการพิจารณาข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างยุติธรรมและเป็นกลาง ความซื่อสัตย์สุจริต หมายถึง การประพฤติตรงจริงใจ ไม่คดโกง ไม่หลอกลวง ไม่ปกปิดข้อเท็จจริงหรือบิดเบือนความจริงอันเป็นสาระสำคัญของงบการเงิน ไม่แสดงตนว่าได้ตรวจสอบบัญชี ตามมาตรฐานและกฎเกณฑ์การสอบบัญชีที่รับรองทั่วไป ถ้าตนไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานและจัดให้มีกระดาษทำการและหลักฐานอื่นมาแสดงเพื่อปลดเปลื้องหน้าที่ ของตนตามมาตรฐานการสอบบัญชี คำชี้แจงข้อกำหนด
(ก) ไม่รับสอบบัญชีในกิจการที่ตนขาดความเป็นอิสระ ความเป็นอิสระ หมายถึง การที่ผู้สอบบัญชีสามารถวางแผนการตรวจสอบและใช้วิธีการตรวจสอบต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งหลักฐานที่เพียงพอ ตลอดจนแสดงความเห็น ในรายงานการสอบบัญชีโดยไม่ขึ้นกับผู้ใด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้สอบบัญชีจะไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ไม่ว่าเกี่ยวด้วยทรัพย์สินหรือตำแหน่งหน้าที่ ผู้สอบบัญชี ก็อาจจะขาดความเป็นอิสระในการปฏิบัติงานหรือในการรายงานการสอบบัญชีก็ได้หากมีบุคคลใดที่มีอิทธิพลต่อการปฏิบัติงานและการรายงานหรือมีสถานการณ์ใด มาบีบบังคับให้ผู้สอบบัญชีไม่สามารถปฏิบัติงานและเสนอรายงานตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองทั่วไปได้ในกรณีที่ผู้สอบบัญชีเห็นว่ามีอิทธิพล หรือมีสถานการณ์ใด ทีจะกระทบต่อความเป็นอิสระในการปฏิบัติงานหรือการรายงานการสอบบัญชี ผู้สอบบัญชีควรใช้วิจารณญาณในการรับงาน การปฏิบัติงาน และหรือการเสนอรายงาน การสอบบัญชีนั้น กรณีตัวอย่าง ที่ถือว่า ผู้สอบบัญชีปฏิบัติงานโดยขาดความเป็นอิสระ เช่น ผู้สอบบัญชีตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกรรมการบริษัท ผู้บริหาร หรือเจ้าหน้าที่ของกิจการ ทั้งนี้ไม่ว่าด้วยความคุ้นเคยหรือความเกรงใจ หรือด้วยเหตุผลใดก็ตาม และผู้สอบบัญชียอมโอนอ่อนผ่อนตามความต้องการของบุคคลเหล่านั้น จนมีผลให้ผู้สอบบัญชี
(1) ละเว้นการตรวจสอบรายการบัญชี หรือยอดคงเหลือในบัญชี หรือในบางเรื่องที่ควรตรวจสอบตามมาตรฐานการสอบบัญชี
(2) ยอมรับหลักฐานเพื่อการสอบบัญชีโดยไม่ตรวจสอบทั้ง ๆ ที่ควรตรวจสอบ
(3) แสดงความเห็นในรายงานการสอบบัญชีโดยไม่มีเงื่อนไขทั้งๆ ที่ควรแสดงความคิดเห็นเป็นแบบมีเงื่อนไข แสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง หรือไม่แสดงความเห็นต่อการเงิน
(4) ถูกจำกัดขอบเขตในการปฏิบัติงานสอบบัญชี ผู้สอบบัญชีไม่ได้รายงานไว้ในรายงานการสอบบัญชี เช่น ผู้สอบบัญชีไม่ได้ตรวจนับเงินสด ไม่ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การตรวจนับสินค้าคงเหลือในจำนวนที่เป็นสาระสำคัญ และไม่ได้ยืนยันยอดลูกหนี้ เนื่องจากกรรมการไม่ยอมให้กระทำเช่นนั้น
(ข) ไม่รับสอบบัญชีในกิจการที่ตนขาดความเป็นกลาง โดยมีผลประโยชน์หรือตำแหน่งเกี่ยวข้องกับกิจการนั้น หรือโดยมีเหตุอื่นที่อาจจะอื่น ให้เกิดความลำเอียง ยกเว้นค่าธรรมเนียมที่ได้รับจากการประกอบวิชาชีพสอบบัญชีหรือหน้าที่ในการประกอบวิชาชีพอิสระอื่นที่เกี่ยวกับกิจการนั้น การที่ผู้สอบบัญชีมีส่วนเกี่ยวข้องทางด้านการเงิน ทางด้านการเงิน ทางด้านการงาน หรือตำแหน่งหน้าที่ในกิจการของลูกค้า ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ถือว่าผู้สอบบัญชีขาดความเป็นกลาง ผู้สอบบัญชีจะต้องมีความเป็นกลางในส่วนที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า ตลอดจนละเว้นความสัมพันธ์ ในลักษณะที่จะทำให้บุคคลภายนอกเชื่อว่าผู้สอบบัญชีไม่อาจปฏิบัติงานได้โดยมีความเป็นกลาง สอบบัญชีต้องปฏิบัติงานสอบบัญชีและเสนอรายงานสอบบัญชีอย่างตรงไปตรงมาตามคงวามเป็นจริงโดยปราศจากความลำเอียงและอคติ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ของบุคคลเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ ถ้าหากผู้สอบบัญชี เห็นว่ามีสถานการณ์ใดที่ทำให้บุคคลภายนอกสรุปได้ว่าผู้สอบบัญชีขาดความเป็นกลาง ผู้สอบควรถอนตัวจากเป็นผู้สอบบัญชีโดยการลาออก หรือ หยุดการสอบบัญชีชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์ที่กระทบความเป็นกลางได้ยุติแล้วเช่นการได้รับมรดกเป็นหุ้นของบริษัทในระหว่างการเป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทนั้น และได้จำหน่ายหุ้นเหล่านั้นโดยไม่ล่าช้า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้สอบบัญชีขาดความเป็นกลางและขอถอนตัวจากการเป็นผู้สอบบัญชี แต่ไม่สามารถกระทำได้ ผู้สอบบัญชีต้องรายงานแบบไม่แสดงความเห็น การที่ผู้สอบบัญชีให้บริการเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาแก่ลูกค้า โดยที่การให้คำปรึกษานั้นเป็นงานที่ผู้สอบบัญชีให้บริการเป็นอิสระไม่ขึ้นกับผู้ใด และไม่มีส่วนในการตัดสินใจทางด้านการบริหาร ถือได้ว่าไม่กระทบความเป็นกลาง อย่างไรก็ดี ผู้สอบบัญชีต้องระมัดระวังว่า ไม่ปฏิบัติหน้าที่ เกินกว่าการให้คำปรึกษาหรือก้าวล่วงเข้าไปถึงการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหาร การที่ผู้สอบบัญชีได้รับค่าธรรมเนียมวิชาชีพจากการประกอบวิชาชีพสอบบัญชีไม่ถือว่าเป็นการได้ประโยชน์โดยขาดความเป็นกลาง ทั้งนี้ให้รวมถึงค่าธรรมเนียม ที่ได้รับเนื่องจากหน้าที่ในการประกอบวิชาชีพอิสระอื่นที่เกี่ยวกับกิจการนั้น เช่น ในกรณีที่ผู้สอบบัญชีให้คำปรึกษาทางด้านบริหาร ด้านภาษีอากร และวางรูปบัญชีให้ธุรกิจ เป็นต้น โดยมีหลักเกณฑ์ว่าผู้สอบบัญชีจะต้องปฏิบัติงานเป็นอิสระจริงๆ และไม่มีตำแหน่งประจำ รวมทั้งไม่มีส่วนในการตัดสินใจ ด้านการบริหารงานของกิจการ
กรณีต่อไปนี้อาจถือว่าผู้สอบบัญชีขาดความเป็นกลาง เช่น
1. ผู้สอบบัญชี คู่สมรส บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ผู้ช่วยผู้สอบบัญชีที่มีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจในการแสดงความเห็นของผู้สอบบัญชี หุ้นส่วนในสำนักงานสอบบัญชี หรือสำนักงานของผู้สอบบัญชีเป็นผู้ถือหุ้น หรือเป็นหุ้นส่วนในกิจการที่ตนเป็นผู้สอบบัญชี
2. ผู้สอบบัญชี คู่สมรส บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือหุ้นส่วนในสำนักงานสอบบัญชีมีการลงทุนในกิจการอื่นร่วมกันกับลูกค้า หรือกับเจ้าหน้าที่ระดับบริหาร กรรมการ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของลูกค้าหรือการมาผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญในกิจการอื่นร่วมกันกับลูกค้า
3. ผู้สอบบัญชี คู่สมรส บุตร ผู้ช่วยผู้สอบบัญชีที่มีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจในการแสดงความเห็นของผู้สอบบัญชี หรือหุ้นส่วนในสำนักงานสอบบัญชี รวมทั้งคู่สมรส และบุตรของผู้ช่วยผู้สอบบัญชีที่มีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจในการแสดงความเห็นของผู้สอบบัญชีหรือของหุ้นส่วนในสำนักงานสอบบัญชีเป็นเจ้าหน้าที่ระดับบริหาร กรรมการ ที่ปรึกษาประจำหรือตำแหน่งอื่นที่มีสิทธิและอำนาจในด้านการบริหาร ด้านการเงิน และด้านการบัญชีของกิจการที่ตนเป็นผู้สอบบัญชี
4. การที่ผู้สอบบัญชีมีส่วนเกี่ยวข้องทางด้านการเงินกับลูกค้า เจ้าหน้าที่ระดับบริหาร กรรมการ หรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของลูกค้า เช่น กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ค้ำประกัน หรือรับการค้ำประกันการกู้ยืมเงิน เว้นแต่เป็นการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินที่ทำขึ้นตามระเบียบ วิธีการ ข้อกำหนด หรือที่มีเงื่อนไขตามปกติ
5. ผู้สอบบัญชีให้เช่าหรือ เช่าทรัพย์สินกับลูกค้า โดยมีค่าเช่าหรือเงื่อนไขที่ผิดปกติซึ่งเห็นได้อย่างชัดแจ้ง
6. ผู้สอบบัญชีประกอบธุรกิจหรือประกอบอาชีพอื่นใดที่ทำไปพร้อมกับการเป็นผู้สอบบัญชี อันอาจก่อให้เกิดการขัดผลประโยชน์หรือขัดแย้งกับการรักษาความเป็นกลางของผู้สอบบัญชีในการประกอบวิชาชีพสอบบัญชี เช่น อาชีพนายหน้า หรือหน่วยงานรับทำบัญชีแยกออกไป ไม่ว่าในรูปแบบใด และตั้งอยู่สถานที่เดียวกันหรือไม่ก็ตาม โดยสำนักงานสอบบัญชีและสำนักงานรับทำบัญชีนั้นมี ผู้ถือหุ้น ผู้เป็นหุ้นส่วน เจ้าของ ผู้บริหารหรือพนักงานร่วมกัน หรือมีชื่อหรือเครื่องหมายการค้าเหมือนกัน
(ค) ปฏิบัติงานสอบบัญชีด้วยความเที่ยงธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต ความเที่ยงธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต เป็นคุณสมบัติประการสำคัญที่ผู้สอบบัญชีทุกคนพึงมี ทั้งนี้เพื่อให้งานสอบบัญชี และการรายงานการสอบบัญชีเป็นไปด้วยความเป็นธรรม จริงใจ และตรงไปตรงมา กรณีต่อไปนี้อาจถือว่าผู้สอบบัญชีไม่ปฏิบัติงานด้วยความเที่ยงธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต เช่น
1. ผู้สอบบัญชี คู่สมรส บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ผู้ช่วยผู้สอบบัญชีที่มีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจในการแสดงความเห็นของผู้สอบบัญชี หุ้นส่วนในสำนักงานสอบบัญชี หรือสำนักงานของผู้สอบบัญชีเป็นผู้ถือหุ้น หรือเป็นหุ้นส่วนในกิจการที่ตนเป็นผู้สอบบัญชี – กิจการลงบัญชีไม่ตรงกับเอกสารประกอบการลงบัญชี และไม่ปรับปรุงรายการบัญชีให้ถูกต้องตามความเป็นจริงของฐานะการเงิน และผลการดำเนินงาน – ผลการตรวจสอบแน่ชัดว่ากิจการละเลยไม่ยันทึกรายการบัญชีรายได้ หรือค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ
2. ผู้สอบบัญชีกระทำการหรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำการโดยทุจริต เพื่อให้มีหรือไม่มีรายการในบัญชี เช่น ซ่อนเร้น ปลอมแปลง แก้ไข หรือทำลายหลักฐานทางบัญชี ให้ผิดจากความเป็นจริง
(ง) ไม่ปกปิดข้อเท็จจริงหรือบิดเบือนความจริงอันเป็นสาระสำคัญของงบการเงิน ที่ตนลงลายมือชื่อรับรองในรายงาน โดยการแสดงความเห็น ซึ่งอาจทำให้เกิดการหลงผิด และอาจเสียหายแก่กิจการที่สอบบัญชีนั้นหรือแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง ในการปฏิบัติงานตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองทั่วไป ผู้สอบบัญชีมีความรับผิดชอบที่จะต้องตรวจสอบความถูกต้อง และเพียงพอของการเปิดเผยข้อมูลและรายการต่างๆ อย่างเพียงพอ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป ซึ่งเป็นการป้องกันมิให้เกิดการหลงผิดหรือเสียหายแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องหรือผู้ใช้ประโยชน์จากงบการเงินในการตัดสินใจทางธุรกิจหรือการเงิน แม้ว่าการเปิดเผยข้อความและรายการในงบการเงินดังกล่าวเป็นหน้าที่ของลูกค้า แต่ถ้าผู้สอบบัญชีพบว่าการเปิดเผยข้อมูลไม่เพียงพอ หรือมีการปกปิดเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ผู้สอบบัญชีจำเป็นต้องเปิดเผยไว้ในรายงานการสอบบัญชี พร้อมทั้งแสดงความเห็นต่องบการเงินอย่างมีเงื่อนไข หรือแสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้องแล้วแต่กรณี กรณีต่อไปนี้อาจถือว่าผู้สอบบัญชีปกปิดหรือบิดเบือนความจริงอันเป็นสาระสำคัญของงบการการเงินที่ตนลงลายมือชื่อแสดงความเห็น เช่น
(1) งบการเงินของกิจการแสดงรายการรับชำระเงินทุนไม่ตรงกับทุนที่เรียกชำระ หรือแสดงเงินทุนจดทะเบียนไม่ตรงกับหลักฐานการจดทะเบียน ถือว่างบการเงินแสดงบิดเบือนความจริง ถ้าหากผู้สอบบัญชีเสนอรายงานการสอบบัญชีโดยมิได้ทักท้วงให้ลูกค้าแก้ไขปรับปรุงรายการ หรือเปิดเผยข้อมูลให้ถูกต้อง หรือผู้สอบบัญชีไม่ได้เปิดเผยข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ในรายงานการสอบบัญชี ถือว่าผู้สอบบัญชีปกปิดข้อเท็จจริงของงบการเงินที่ตนลงลายมือชื่อแสดงความเห็น
(2) ผลการดำเนินงานของกิจการโดยแท้จริงขาดทุนเพราะมีลูกหนี้ที่คาดว่าจะเรียกเก็บไม่ได้เป็นจำนวนมาก แต่บริษัทได้แสดงผลกำไรสุทธิ และผู้สอบบัญชีได้ลงลายมือชื่อในรายงานการสอบบัญชี โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งๆ ที่ ผู้สอบบัญชีทราบความจริงดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้ใช้งบการเงินหลงผิด และอาจได้รับความเสียหาย
(3) ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นต่องบการเงินโดยไม่มีเงื่อนไข และในกรณีที่กิจการไม่เปิดเผยข้อมูลที่สำคัญ เช่น การไม่เปิดเผยการค้ำประกันหนี้สิน ให้บุคคลที่สาม การไม่เปิดเผยการนำหลักทรัพย์ไปค้ำประกันหนี้สิน เป็นต้น ซึ่งมีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ใช้งบการเงิน ทำให้ผู้ใช้งบการเงินหลงผิด และอาจได้รับความเสียหาย
(4) ในงบดุลของบริษัทจำกัดแห่งหนึ่งแสดงว่ามีเงินสดในมือหนึ่งล้านบาททั้งที่ผู้สอบบัญชีทราบความจริงแล้วว่าบริษัทจำกัดนั้นมีเงินสด ในมือเพียงหนึ่งแสนบาท
2. ความรู้ความสามารถ และมาตรฐานในการปฏิบัติงาน
คำชี้แจงหลักการพื้นฐาน ความรู้ความสามารถ และมาตรฐานในการปฏิบัติงาน ในการประกอบวิชาชีพสอบบัญชี ผู้สอบบัญชีต้องใช้ความรู้ความสามารถและความชำนาญงานในวิชาชีพเป็นพิเศษ เพื่อที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ผลงานของผู้สอบบัญชีเป็นที่เชื่อถือได้ การที่จะสามารถปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง และรอบคอบตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองทั่วไป ผู้สอบบัญชีต้องวางแผนและควบคุมงานสอบบัญชี
จนสามารถรวบรวมหลักฐานการตรวจสอบให้เป็นที่เพียงพอแก่การแสดงความเห็นในรายงานการสอบบัญชี โดยปราศจากการคาดคะเนรายการใดๆ ที่ยังไม่เกิดขึ้นของกิจการที่ตนรับสอบบัญชี เว้นแต่เป็นการประมาณการทางบัญชีตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป ตลอดจนจะต้องจัดทำรายงานการสอบบัญชีเพื่อแสดงความเห็น ว่างบการเงินถูกต้องตามที่ควรตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปหรือไม่เพียงใดจากหลักฐานที่ได้จากการตรวจสอบ
การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้สอบบัญชี นอกจากการตรวจสอบเพื่อแสดงความเห็นต่องบการเงินตามปกติดังกล่าวแล้ว ยังรวมถึงการตรวจสอบในกรณี อื่นๆ อีกเช่น การตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ การสอบทางงบการเงินระหว่างกาล และการสอบทานประมาณการงบการเงิน เป็นต้น ในการปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้ ผู้สอบบัญชีต้องใช้ความรู้ความสามารถและมาตรฐานในการปฏิบัติงาน เช่นกัน นอกจากนี้ผู้สอบบัญชีจะต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาที่ประกอบวิชาชีพสอบบัญชีอยู่ทั้งนี้เพื่อให้มีความรู้ความสามารถทันต่อเหตุการณ์ คำชี้แจงข้อกำหนด
(ก) ไม่สอบบัญชีในกิจการที่เกิดความรู้ความสามารถของตนที่จะปฏิบัติงานได้ ในการพิจารณารับงานสอบบัญชี ผู้สอบบัญชีจะต้องมีความรู้ในธุรกิจประเภทนั้นโดยพิจารณาถึงลักษณะพิเศษและประสบการณ์ ในการตรวจสอบธุรกิจประเภทนั้นๆ รวมตลอดถึงมีความสามารถเพียงพอที่จะปฏิบัติงานให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และมีประสิทธิภาพหรือไม่ กรณีต่อไปนี้อาจถือว่าผู้สอบบัญชีขาดความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานได้ เช่น
1. ผู้สอบบัญชีรับสอบบัญชีธุรกิจที่ใช้คอมพิวเตอร์ โดยขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์โปรแกรม และระบบการประมวลผลข้อมูลที่กิจการใช้อย่างเพียงพอ ในกรณีที่ผู้สอบบัญชีใช้บุคคลอื่นช่วยตรวจสอบ ผู้สอบบัญชีก็ต้องมีความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อย่างเพียงพอที่จะมอบหมายงานควบคุมดูแลและสอบทานงานที่มอบหมายให้บุคคลอื่นด้วย
2. ผู้สอบบัญชีรับสอบบัญชีให้บริษัทที่ประกอบธุรกิจลักษณะพิเศษซึ่งไม่ใช่ธุรกิจซื้อขายสินค้าทั่วไป เป็นต้นว่า กิจการโรงแรม โรงพยาบาล การเดินเรือ เงินทุนหลักทรัพย์ ทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้ความชำนาญพอที่จะสอบบัญชีและแสดงความเห็นต่องบการเงินของกิจการเหล่านั้น
3. ผู้สอบบัญชีรับงานสอบบัญชีในปริมาณมากจนไม่สามารถควบคุมการปฏิบัติงานสอบบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานการสอบบัญชีได้
(ข) ปฏิบัติงานสอบบัญชีด้วยความระมัดระวังและรอบคอบตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองทั่วไป ผู้สอบบัญชีต้องปฏิบัติงานสอบบัญชีตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองทั่วไป และใช้ความระมัดระวังรอบคอบในการตรวจสอบตามที่ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระทั้งหลายพึงมีสำหรับในสภาวะการณ์นั้นๆ การปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวังรอบคอบยังหมายความรวมถึงการจัดทำรายงานการสอบบัญชีให้ตรงตามความเป็นจริง และแสดงความเห็นว่างบการเงินถูกต้องตามที่ควรหรือไม่เพียงใดจากหลักฐานที่ได้จากการตรวจสอบ กรณีดังต่อไปนี้ อาจถือว่าผู้สอบบัญชีปฏิบัติงานสอบบัญชีโดยขาดความระมัดระวัง และรอบคอบตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองทั่วไป เช่น
(1) ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไขต่องบการเงินซึ่งแสดงรายการไม่ถูกต้อง เช่น แสดงรายการชำระหนี้ไว้ในงบกำไรขาดทุนในหมวดค่าใช้จ่ายในการขาย และการบริหาร
(2) กรณีที่ผู้สอบบัญชียืนยันยอดลูกหนี้ และมีผลแตกต่าง แต่ผู้สอบบัญชีไม่ได้ติดตามจนถึงที่สุด
(3) ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไขต่องบการเงินที่แสดงรายการไม่ตรงกับในสมุดบัญชีและหรือในรายละเอียดที่แนบประกอบงบการเงิน
(4) ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไขต่องบการเงินที่แสดงรายการไม่สัมพันธ์กัน เช่น มีรายการหนี้เงินกู้ยืมจากธนาคารในงบการเงิน แต่ไม่ปรากฏรายการดอกเบี้ยจ่ายในงบการเงิน หรือมีรายการค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์สินถาวร เช่น ค่าเบี้ยประกันภัยทั้งๆ ที่ไม่มีรายการทรัพย์สินถาวรนั้น
(5) ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไขต่องบการเงินโดยไม่ได้ติดตามดูว่ากิจการได้ปรับปรุงงบการเงินตามที่ผู้สอบบัญชีตรวจพบ และแจ้งให้ปรับปรุงแล้วหรือไม่
(ค) ไม่ลงลายมือชื่อรับรองในรายงานโดยการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการคาดคะเนรายการใดๆ ของกิจการที่ตนรับสอบบัญชี เว้นแต่เป็นการสอบบัญชีหรือสอบทานตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองทั่วไป การคาดคะเนเป็นเรื่องของอนาคตซึ่งยังไม่มีความแน่นอน แต่ตามมาตรฐานการสอบบัญชีให้ได้หลักฐานที่เพียงพอ ก่อนที่จะแสดงความเห็นในรายงานการสอบบัญชี ดังนั้น ผู้สอบบัญชีจะต้องไม่แสดงความเห็นเกี่ยวกับการคาดคะเนรายการใดๆ ซึ่งเป็นการประมาณการสำหรับเหตุการณ์ในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น และอาจจะถูกกระทบและเปลี่ยนแปลงไปด้วยเหตุการณ์ ที่ไม่อาจทราบล่วงหน้า ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่การคาดคะเนกำไรเท่านั้น รวมไปถึงการประมาณการใด ๆ ในอนาคต เช่น ดัชนีต่างๆ ในอนาคต เงินปันผลที่คาดว่าจะจ่ายในอนาคต เป็นต้นอย่างไรก็ตาม ผู้สอบบัญชีสามารถลงลายมือชื่อในการสอบทานประมาณการงบการเงินว่า ได้จัดทำขึ้นโดยใช้หลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปซึ่งใช้อยู่โดยสม่ำเสมอ และการคำนวณในประมาณการงบการเงินเป็นไปตามข้อสมมติฐาน ที่ฝ่ายบริหารกำหนดไว้หรือไม่โดยไม่ให้ความเห็นต่อตัวเลขใดๆ ตามที่ได้ประมาณการไว้ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร และผู้สอบบัญชีจะต้องไม่แสดงความเห็นต่อความเป็นไปได้ของประมาณการและข้อสมมติฐานที่ใช้ในการทำประมาณการงบการเงินนั้น
(ง) ไม่ลงลายมือชื่อรับรองในรายงาน โดยการแสดงความเห็นในการสอบบัญชีของกิจการใดที่ตนมิได้ปฏิบัติงานสอบบัญชี หรือควบคุมการสอบบัญชีตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองทั่วไป การลงลายมือชื่อแสดงความเห็นในรายงานการสอบบัญชีของกิจการใด ผู้สอบบัญชีจำเป็นต้องปฏิบัติงานตรวจสอบและรวบรวมหลักฐานที่เพียงพอและเชื่อถือได้เพื่อประกอบการแสดงความเห็นต่องบการเงินตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองทั่วไป นอกจากนี้ในการปฏิบัติงานสอบบัญชี
ผู้สอบบัญชีต้องควบคุมการปฏิบัติงานของผู้ช่วย กรณีดังต่อไปนี้อาจถือว่าผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นต่องบการเงินของกิจการโดยที่ตนมิได้ปฏิบัติงานสอบบัญชีหรือควบคุมการสอบบัญชีตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองทั่วไป เช่น
(1) ผู้สอบบัญชีไม่ได้ควบคุมและสอบทานการปฏิบัติงานของผู้ช่วย รวมทั้งไม่ไอธิบายให้ผู้ช่วยเข้าใจแผนการตรวจสอบ อันเป็นผลให้ตรวจไม่พบข้อบกพร่องที่มีสาระสำคัญ เช่น ตรวจไม่พบว่ากิจการบันทึกรายการเงินฝากธนาคารรวมกับบัญชีเงินสด หรืองบการเงินมีข้อบกพร่อง และผู้สอบบัญชีไม่สามารถชี้แจงข้อบกพร่องนั้นได้ เป็นต้น
(2) ผู้สอบบัญชีไม่ได้ว่างแผนการตรวจสอบเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่มีกระดาษทำการแสดงหลักฐานการตรวจสอบที่เชื่อถือได้
(3) ผู้สอบบัญชีกำหนดแผนการตรวจสอบและใช้วิธีการทดสอบรายการบัญชีในปริมาณที่ไม่เพียงพอ โดยไม่ได้คำนึงถึงประสิทธิภาพการ ควบคุมภายในของแต่ละกิจการที่ตนตรวจสอบ
(4) ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นต่องบการเงินโดยไม่ได้ตรวจสอบบัญชี หลักฐานและเอกสารประกอบการลงบัญชี เพียงแต่เชื่อถือตามงบการเงินที่ผู้จัดทำบัญชี จัดทำขึ้นหรือสอบถามข้อเท็จจริงจากผู้ทำบัญชี หรือเชื่อตามคำชี้แจงของกรรมการ หรือตรวจสอบเฉพาะยอดคงเหลือยกไปและยกมาในบัญชี และทดสอบการบวกเลขเท่านั้น
(5) ผู้สอบบัญชีไม่ได้ใช้วิธีการตรวจสอบอย่างเหมาะสม เป็นผลให้ไม่พบข้อบกพร่องในการบันทึกบัญชีที่ไม่ถูกต้อง เช่น
– งบการเงินแสดงรายการบัญชีเหมือนกับรอบปีบัญชีก่อน ทั้งที่ข้อเท็จจริงกิจการได้มีการประกอบการค้า
– กิจการบันทึกบัญชีโดยไม่มีหรือบันทึกไม่ครบถ้วนตามเอกสารประกอบการลงบัญชี
– กิจการบันทึกรายการบัญชีโดยไม่มีเอกสารที่เชื่อถือได้ หรือมีการแก้ไขเอกสารประกอบการลงทุนบัญชีที่เห็นได้ชัดเจน
(6) ผู้สอบบัญชีไม่ได้ใช้วิธีการตรวจสอบอันเหมาะสมแก่กรณี เช่น
– ไม่ได้ตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียนทั้งที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเงินทุนจดทะเบียนที่บันทึกในบัญชีน่าจะไม่ถูกต้อง
– ไม่ได้ตรวจนับเงินสดคงเหลือในมือ ณ วันสิ้นงวดตามรายการและยอดในบัญชีที่กิจการบันทึกไว้
– ไม่ได้ตรวจสอบเอกสารใบแจ้งยอดเงินฝากธนาคาร และเอกสาร หลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งไม่ได้ขอข้อมูลจากธนาคารเพื่อประโยชน์ในการสอบบัญชี กรณีที่ตรวจพบว่าเอกสารใบสำคัญจ่ายบางรายการระบุว่าจ่ายเป็นเช็คผ่านธนาคารหรือธนาคารแจ้งหักบัญชีเงินฝากธนาคารในนามกิจการ
– ไม่ได้ตรวจสอบหลักฐานการกู้ยืมเงินและไม่ได้ขอหนังสือยืนยันยอดจากธนาคาร เป็นผลให้การแสดงรายการเจ้าหนี้เงินยืมธนาคารต้นปี และปลายปีในบัญชีแยกประเภทและงบการเงินไม่สอดคล้องกับหนังสือแจ้งยอดจากธนาคาร
– ไม่ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การตรวจนับสินค้าคงเหลือ และมิได้ใช้วิธีการตรวจสอบอื่นเพื่อพิสูจน์ความเชื่อถือได้ของยอดสินค้าคงเหลือ ณ วันสิ้นปี แต่ถือตามยอดรายละเอียดสินค้าที่กรรมการผู้จัดการรับรองหรือจัดส่งมาให้
(จ) ไม่ยินยอมให้ผู้อื่นอ้างว่าตนเป็นผู้ทำการสอบบัญชีในกิจการใดโดยตนมิได้ปฏิบัติงานสอบบัญชี หรือควบคุมการสอบบัญชีในกิจการนั้น
สามารถอ่านบทความน่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี่ คลิ๊ก!!
บทความโดย : www.pangpond.co.th