ซื้อโฆษณาออนไลน์ นำมาหักค่าใช้จ่ายธุรกิจได้อย่างไร

ซื้อโฆษณาออนไลน์ นำมาหักค่าใช้จ่ายธุรกิจได้อย่างไร



เจ้าของธุรกิจทั้งในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล มักนิยมทำการตลาดผ่านโซเชียล เนื่องจากสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากและรวดเร็ว แต่เจ้าของธุรกิจอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับรายจ่ายตรงนี้มากเท่าไหร่

แต่หลังจากมีการประกาศใช้กฎหมาย e-Service คือผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ จะเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากผู้ซื้อโฆษณาที่ใช้ช่องทางการโปรโมตทางออนไลน์ เช่น Facebook Google IG Youtube Line@ เป็นต้น

ดังนั้น เจ้าของธุรกิจที่ซื้อโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ อาจจะต้องเสียค่าซื้อโฆษณาอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น ก็จะเริ่มหันมาสนใจว่า รายจ่ายเหล่านี้สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการได้หรือไม่ หรือภาษีซื้อที่จ่ายไปนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้บ้างหรือไม่ ซึ่งสามารถตามไปหาคำตอบพร้อมกันจากบรรทัดต่อจากนี้

  • ธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา

รายจ่ายจากการซื้อโฆษณาออนไลน์สำหรับเจ้าของธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา หรือเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

1.หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา กรณีที่เจ้าของธุรกิจเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา จะไม่สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการซื้อโฆษณาออนไลน์มาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายนี้ถูกรวมอยู่ในค่าใช้จ่ายที่หักเหมาไปแล้วทั้งหมด

2.หักค่าใช้จ่ายตามจริง หากเจ้าของธุรกิจเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง สามารถนำค่าซื้อโฆษณาออนไลน์ที่จ่ายไป มาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ แต่จะต้องเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับธุรกิจจริง พร้อมกับมีหลักฐานการจ่ายเงินที่ชัดเจน โดยต้องระบุวัน-เดือน-ปีของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น จำนวนเงิน รวมถึงชื่อผู้ซื้อโฆษณา ซึ่งต้องเป็นชื่อเจ้าของธุรกิจ

  • ธุรกิจในนามนิติบุคคล

รายจ่ายจากการซื้อโฆษณาออนไลน์สำหรับกิจการที่จดบริษัทเป็นนิติบุคคล จะสามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ ต้องมีหลักฐานการจ่ายโฆษณาที่ยืนยันได้ว่า เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงและเพื่อกิจการ หรือเป็นการจ่ายผ่านบัตรเครดิตในนามกิจการ จึงจะสามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายจากการซื้อโฆษณาออนไลน์ได้ หรือต้องมีความชัดเจนในชื่อบัญชีที่เป็นผู้รับเงิน

ทว่าหากการซื้อโฆษณาออนไลน์นั้นเป็นการจ่ายเพื่อกิจการ ไม่ได้ถูกจ่ายผ่านบัตรเครดิตในนามกิจการ แต่ใบเสร็จรับเงินที่ได้รับเป็นใบเสร็จรับเงินที่ออกในนามกิจการ ก็สามารถนำรายจ่ายนี้มาหักค่าใช้จ่ายของกิจการได้เช่นกัน

  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม... เช็กให้ดีโฆษณาออนไลน์ที่ซื้ออยู่ประเทศไหน

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า เมื่อมีกฎหมาย e-Service เกิดขึ้น ทำให้ผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จากผู้ซื้อโฆษณาออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Facebook Google IG Youtube Line@ ฯลฯ และทางผู้ให้บริการจะออกใบกำกับภาษี เพื่อให้กิจการนำไปใช้ประโยชน์ทางภาษี โดยสามารถนำไปใช้ได้ต่างกันดังนี้

1.ธุรกิจที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ใบกำกับภาษีที่ได้รับจากการซื้อโฆษณาออนไลน์ จะไม่สามารถนำภาษีซื้อมาหักภาษีขาย เครดิตภาษีขาย หรือขอคืนภาษีได้

2.ธุรกิจที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สามารถนำไปใบกำกับภาษีไปใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ เช่น นำไปหักค่าใช้จ่าย หรือนำภาษีซื้อมาหักภาษีขาย เครดิตภาษี ตลอดจนขอคืนภาษีได้ แต่การขอคืนภาษีซื้อ หรือนำค่าโฆษณามาหักค่าใช้จ่าย กิจการจะต้องทราบว่าบริษัทที่จ่ายค่าโฆษณาออนไลน์ไปนั้น เป็นบริษัทในประเทศไทยหรือต่างประเทศ

- หากซื้อโฆษณาจากบริษัทในประเทศไทย กิจการสามารถนำใบกำกับภาษีเต็มรูปที่ได้รับจากผู้ให้บริการ ทำการยื่นขอคืนภาษีได้ตามปกติ

- ส่วนการซื้อโฆษณาจากบริษัทต่างประเทศ กฎหมายกำหนดให้ผู้ที่จ่ายเงินซื้อโฆษณาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ให้บริการในต่างประเทศ โดยบริษัทต่างประเทศจะไม่บวกภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่กิจการจะต้องทำการยื่น ภ.พ.36 ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่สิ้นเดือนที่มีการจ่ายค่าโฆษณา และชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม7% แทน แต่สามารถนำใบกำกับภาษีซื้อมาใช้ได้ภายใน 6 เดือนถัดไป

สรุป

กิจการที่ซื้อโฆษณาออนไลน์ จะสามารถนำรายจ่ายมาหักค่าใช้จ่ายของกิจการได้ ต้องประกอบไปด้วยดังนี้

- ต้องเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ของกิจการ

- เป็นรายจ่ายที่เกี่ยวของกับการสร้างรายได้ เพื่อกำไรของกิจการ

- เป็นรายจ่ายเพื่อมุ่งหวังยอดขายให้กิจการ

- เพื่อเพิ่มกลุ่มลูกค้าในประเทศ

- หลักฐานการจ่ายค่าโฆษณาต้องชัดเจน และมีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้

- กิจการจะต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ของวันที่ได้ทำการชำระเงินค่าบริการจริง ในการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาท เพื่อใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่งให้แก่กรมสรรพากร

- กิจการต้องนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% โดยยื่นแบบ ภ.พ.36 และมีสิทธิ์นำใบกำกับภาษีซื้อมาขอคืนภาษีได้ โดยเอกสารที่ต้องใช้และขั้นตอนการกรอกประกอบด้วย

เอกสารที่ต้องใช้

1) ใบเสร็จหรือหลักฐานการจ่ายเงินที่เป็น ‘ชื่อเจ้าของกิจการ’ หรือ ‘ชื่อบริษัท’

2) แบบ ภ.พ. 36

ขั้นตอนการกรอกข้อมูล

1) กรอกข้อมูลผู้นำส่งภาษีให้ครบ ซึ่งจะเป็นข้อมูลของเจ้าของกิจการและบริษัท

2) กรอกข้อมูลการจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการให้ครบ พร้อมระบุเป็น “ค่าโฆษณา”

3) กรอกภาษีมูลค่าเพิ่มโดยมีสูตรคือ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น x 7% = ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ดังนั้น หากเข้าเงื่อนไขดังกล่าว กิจการสามารถนำค่าใช้จ่ายจาการซื้อโฆษณาออนไลน์มาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ โดยเฉพาะธุรกิจที่ยังไม่ได้จดภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล หากปกติต้องใช้ใบกำกับภาษีในการประกอบธุรกิจอยู่แล้ว ก็ควรขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือเมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือกับคู่ค้าทางธุรกิจ และช่วยประหยัดภาษีได้อีกทางหนึ่ง


สามารถอ่านบทความน่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี่ คลิ๊ก!!



Source : Inflow Accounting

 376
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

ครม. เห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไป และของสถาบันการเงิน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
โดยบทความนี้จะมาแนะนำเอกสารที่ระบุอยู่ใน “คู่มือการจัดทำเอกสารประกอบการลงบัญชีที่สามารถเป็นรายจ่ายทางภาษีได้” ของกรมสรรพากร เพื่อใช้สำหรับค่าใช้จ่ายของกิจการที่จ่ายจริงแต่ไม่มีหลักฐานเพียงพอ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
ความเสี่ยงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกองค์กรธุรกิจ เป็นโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาด ความเสียหาย การรั่วไหล ความสูญเปล่าหรือเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคต และมีผลกระทบ ที่จะทำให้การดำเนินงานไม่ประสบความสำเร็จหรือบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กร ที่กำหนดไว้ งานบัญชีเป็นงานที่มีความสำคัญมากของทุกองค์กร มีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลบัญชีและ การเงิน ซึ่งต้องมีความถูกต้องสำหรับผู้ประกอบการนำไปใช้ในการตัดสินใจ และมีความน่าเชื่อถือ สำหรับบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามงานบัญชีก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดข้อผิดพลาดซึ่งจะก่อ ให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร ผู้ประกอบการจะรับมือกับความเสี่ยงในงานบัญชีได้อย่างไร บทความนี้ มีคำตอบ
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ก็คือ “เงิน” ที่ผู้จ่ายเงิน “หัก” ไว้ก่อนที่จะจ่ายให้กับผู้รับเงิน แล้วเอาเงินนั้นไปให้กับรัฐ นั่นทำให้ผู้รับเงินไม่ได้รับเงินเต็มจำนวนครับ แต่จะได้เงินบวกกระดาษแผ่นนึงที่เรียกว่า “หนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย” ส่วนผู้จ่ายเงินยังต้องจ่ายเต็มนะครับ เพียงแต่จ่ายให้กับผู้รับเงินโดยตรงส่วนนึง แล้วให้สรรพากรอีกส่วนนึง หน้าที่หัก ณ ที่จ่าย เป็นหน้าที่ของผู้จ่าย ทั้ง บุคคลธรรมดา และ นิติบุคคล
กฎหมาย E-payment คือ ? พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 เกิดขึ้นเพื่อรองรับระบบภาษี และเอกสารธุรกรรมทางการอิเล็กทรอนิกส์
ลูกหนี้ไม่ชำระค่าสินค้าจะทำอย่างไรประเด็นปัญหาลูกหนี้ไม่จ่ายค่าสินค้า และมาตรการแก้ไขเฉพาะหน้า

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์