งบการเงินบอกอะไรของบริษัทบ้าง

งบการเงินบอกอะไรของบริษัทบ้าง

งบการเงินคือรายงานทางการเงินและบัญชี ที่แสดงให้เห็นสถานะการดำเนินงานของกิจการ ซึ่งประกอบด้วยงบแสดงฐานะทางการเงิน (งบดุล) งบกำไรขาดทุน งบกระแสเงินสด และงบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น
นอกจากที่ กิจการมีหน้าที่ต้องจัดทำงบการเงินเพื่อส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมสรรพากรพร้อมยื่นแบบภาษีเป็นประจำทุกปีแล้ว กิจการยังสามารถนำข้อมูลมาใช้เพื่อช่วยในการตัดสินใจ และวางแผนการดำเนินกิจการได้หลายอย่าง โดย งบการเงิน ประกอบไปด้วย 4 งบหลัก และข้อมูลประกอบ ดังนี้

1.งบแสดงฐานะการเงิน  

งบแสดงฐานะการเงิน จะทำให้เห็นว่าภาพรวมของกิจการ มีฐานะการเงิน สินทรัพย์ หนี้สิน ส่วนของทุนรวมถึงให้ข้อมูลถึงประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์ ของกิจการได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ โดยงบนี้จะบอกสถานะการเงินของกิจการ ณ วันใดวันหนึ่ง เช่น ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2021

นอกจากกิจการจะเห็นข้อมูลจาก งบการเงิน นี้ ยังมีบุคคลอื่นที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลในงบแสดงฐานะการเงินเช่นกัน เช่น Supplier ของกิจการ อาจใช้งบการเงินเพื่อวิเคราะห์ว่ากิจการจะสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่   ลูกค้าของกิจการ สามารถดูข้อมูลพิจารณาความหน้าเชื่อถือก่อนเซ็นสัญญาซื้อขาย หรือ ธนาคาร อาจใช้ข้อมูลในงบเพื่อพิจารณาก่อนการปล่อยสินเชื่อเงินกู้

2.งบกำไรขาดทุน

งบกำไรขาดทุน แสดงให้เห็นถึงผลประกอบการ ความสามารถในการทำกำไร รวมทั้งโครงสร้างรายได้และค่าใช้จ่ายของกิจการเป็นอย่างไรในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง (โดยปกติทุกๆ 1 ปีตามรอบระยะเวลาบัญชีของกิจการ) โดยกิจการสามารถใช้งบนี้เพื่อให้ผู้บริหารกิจการนำข้อมูลไปวิเคราะห์ใช้ในการตัดสินใจวางแผนเชิงกลยุทธ์ในการดำเนินกิจการต่อไปในอนาคต

และที่สำคัญคือ งบกำไรขาดทุนทำให้กิจการทราบตัวเลขเพื่อใช้คำนวณภาษีที่ต้องยื่นแก่สรรพากร อีกทั้งเมื่อทราบภาษีที่ต้องเสียแล้ว ก็จะทำให้เจ้าของกิจการสามารถวางแผนจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายให้ถูกต้อง และประหยัดภาษีได้มากยิ่งขึ้น

3.งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น

งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น จะทำให้เห็นยอดเงินทุนในส่วนของผู้ถือหุ้นตั้งแต่ต้นปีไปจนถึงปลายปีนั้นๆ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากอะไรบ้าง  เช่น ทุนชำระแล้วของบริษัทเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มทุน หรือลดลงจากการลดทุน กำไรสะสมของกิจการเพิ่มขึ้นด้วยกำไรสุทธิ หรือลดลงด้วยการจ่ายเงินปันผล ซึ่งสามารถทำให้เจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้น เตรียมพร้อมตั้งรับกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตได้ รวมถึงสามารถคาดการณ์ถึงเงินปันผลที่จะได้รับด้วย

4.งบกระแสเงินสด

งบกระแสเงินสด จะทำให้เห็นที่มาที่ไปของกระแสเงินสด ว่าเพิ่มขึ้น หรือลดลงจากรายการใดบ้าง เช่นมาจากกิจกรรมดำเนินงานปกติ การลงทุน การกู้ยืม หรือชำระเงินคืนกู้ ซึ่งการจัดทำงบกระแสเงินสดจะช่วยให้เจ้าของกิจการวางแผนการใช้เงินได้ดีมากขึ้น และทำให้ทราบถึงสภาพคล่องในการดำเนินงาน เพื่อนำไปใช้วางแผนการใช้จ่ายของกิจการได้

และนอกจากงบกระแสเงินสด จะแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงกระแสเงินสดของกิจการ ว่ามีการได้มาและใช้ไปอย่างไรแล้ว ยังเป็นงบที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงินของกิจการ ที่เน้นการเปลี่ยนแปลงในส่วนของเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการบริหารจัดการเงินสดของกิจการ การวางแผนการตัดสินใจทางด้านการเงินในอนาคตของกิจการอีกด้วย

หมายเหตุประกอบงบการเงิน

หมายเหตุประกอบงบการเงิน เป็นข้อมูลเพิ่มเติมที่ผู้อ่านงบ ไม่ได้เห็นจากใน  งบการเงิน แต่เป็นข้อมูลเพิ่มเติมที่จะทำให้เห็นรายละเอียดของรายการในงบการเงิน นโยบายการทำบัญชีที่กิจการใช้ เช่น วิธีการรับรู้รายได้ วิธีการคิดค่าเสื่อมราคา รวมทั้งภาระผูกพันในอนาคต ความคืบหน้าคดีความฟ้องร้อง ซึ่งหมายเหตุประกอบงบการเงิน จะช่วยให้เจ้าของกิจการสามารถวางแผนและตัดสินใจได้ในหลายๆ เรื่อง เช่น

          – วางแผนสำหรับลูกหนี้การค้า หากลูกหนี้การค้ามากแสดงว่ากิจการขายสินค้าและบริการได้ดี แต่หากลูกหนี้การค้ามีมากจนผิดสังเกต อาจแสดงว่าลูกหนี้ของกิจการ ขาดสภาพคล่องในการชำระหนี้ หรือหมายถึงกิจการขายได้ดี แต่ไม่สามารถเก็บหนี้ได้ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อกิจการอย่างแน่นอน เมื่อเป็นเช่นนี้เจ้าของกิจการต้องมีการวางแผนเตรียมรับมือไว้ล่วงหน้า

– กรณีกิจการมีคดี ที่ถูกฟ้องร้องและอาจจะภาระในอนาคตที่ต้องจ่าย แต่หากคดีความยังไม่สิ้นสุด ข้อมูลนี้จะยังไม่ถูกรวมอยู่ในงบการเงิน ดังนั้นผู้ที่อ่าน งบการเงิน จะสามารถเห็นข้อมูลส่วนนี้ได้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน

– บอกถึงข้อมูล การเปลี่ยนแปลงนโยบายการตัดค่าเสื่อมราคา ซึ่งทำให้กิจการมีตัวเลขผลกำไรเพิ่มขึ้นมากในรอบบัญชีนั้น แต่ไม่ใช่กำไรที่ได้มาจากการดำเนินงาน

เมื่อมาถึงตรงนี้เชื่อว่าทุกกิจการ อาจพอมองเห็นแล้วว่าประโยชน์ของการทำงบการเงินมีอะไรบ้าง ซึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือเรื่องของข้อมูลแต่ละงบในแง่ที่แตกต่างกัน การนำข้อมูลงบการเงินเหล่านี้มาประกอบการตัดสินใจ และวางแผนดำเนินกิจการในอนาคต จะช่วยให้เจ้าของกิจการบริหารจัดการงานของตนเองให้ดำเนินการต่อไปได้อย่างไม่สะดุด ซึ่งหากกิจการไม่มีทีมงาน หรือพนักงานฝ่ายบัญชี กิจการสามารถเลือกใช้บริการสำนักงานบัญชีเพื่อบันทึกบัญชี และจัดทำงบการเงิน รวมถึง ตรวจสอบงบการเงินเพื่อให้มั่นใจว่ากิจการมีข้อมูลงบการเงิน ที่ถูกต้อง ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมนั่นเองค่ะ

สามารถอ่านบทความน่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี่ คลิ๊ก!!



ขอบคุณที่มา : inflowaccount.co.th

 465
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

เงินสดย่อย หมายถึง เงินสดจำนวนหนึ่งที่กิจการเบิกธนาคารมาเก็บไว้กับแคชเชียร์ (หรือผู้รักษาเงินสดย่อย)  เพื่อกิจการจะได้มีไว้ใช้จ่าย  สำหรับรายการที่มีจำนวนไม่สูงมากนัก 
ยื่นภาษีย้อนหลัง ต้องเตรียมเอกสารให้พร้อม เช็กเลยมีอะไรบ้าง
ตราประทับบริษัทสูญหาย หรือชำรุด หรือต้องการเปลี่ยนรูปแบบใหม่ จะต้องทำอย่างไร
ตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร หากบุคคลใดมีภาษีอากรค้าง กรมสรรพากรสามารถยึดหรืออายัดทรัพย์และขายทอดตลาดได้เลยโดยยังไม่ต้องฟ้องต่อศาลก่อนก็ได้  และระยะเวลาที่มีอํานาจทําได้ก็เป็นเวลานานถึง 10 ปี
จากอดีตถึงปัจจุบันปัญหาที่ทุกองค์กรจะพบคือ ‘การทุจริต’ โดยจะมีบุคคลที่ส่อแววว่าจะทำการทุจริตไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ขององค์กรเป็นอย่างมาก ปัญหาทุจริตจึงเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้ามเป็นอันขาด ดังนั้นคุณจำเป็นต้องมีผู้ตรวจสอบระบบภายใน ระบบการเงินอยู่เสมอ เพื่อป้องกันช่องว่างที่จะทำให้บุคคลเหล่านั้นฉวยโอกาส ฉะนั้นเราลองมาดูแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างยั่งยืนและได้ประสิทธิภาพมากที่สุดกันดีกว่า

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์