นักบัญชีช่วยวิเคราะห์สินค้าได้อย่างไรบ้าง?

นักบัญชีช่วยวิเคราะห์สินค้าได้อย่างไรบ้าง?


สินค้าขายได้ดีไหม เราถือสินค้าไว้นานเท่าไรกว่าจะขายได้ นักบัญชีจะช่วยเจ้าของธุรกิจวิเคราะห์สินค้าคงเหลือได้อย่างไรบ้าง

เรื่องของการหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ หมายถึง ความอยู่รอดและความเป็นความตายสำหรับหลายๆ ธุรกิจ เช่น ธุรกิจซื้อมาขายไป และธุรกิจผลิต ที่จะต้องสต๊อกสินค้าไว้ล่วงหน้าก่อนจะขายต่อให้กับลูกค้า

เพื่อลดปัญหาอันน่าปวดหัวจากสินค้าคงเหลือ วันนี้เราพาทุกคนมาทำความเข้าใจอัตราส่วนทางการเงินกับสินค้าคงเหลือกัน เริ่มต้นจากรู้จักแหล่งที่มาของข้อมูลก่อน การวิเคราะห์อัตราส่วนสินค้าคงเหลือนั้น จะมีข้อมูลจาก 2 แหล่ง

1.สินค้าคงเหลือ ในงบแสดงฐานะการเงิน
2.ต้นทุนขาย ในงบกำไรขาดทุน

แน่นอนว่าสินค้าคงเหลือเป็นตัวสินทรัพย์ที่เชื่อมโยงกับต้นทุนขาย เวลาเราซื้อสินค้ามาหรือผลิตสินค้าเสร็จแล้ว ก็บันทึกเป็นสินค้าคงเหลือ พอเราขายเราก็ตัดออกมาเป็นต้นทุนขายตามจำนวนสินค้าที่ขายได้ ดังนั้น ยอดสินค้าคงเหลือก็ย่อมมีความเกี่ยวโยงกับต้นทุนขายอย่างแยกไม่ออกเลยทีเดียว ถัดมาเรามาทำความเข้าใจ 2 อัตราส่วนทางการเงินที่ช่วยวิเคราะห์สินค้าคงเหลือกัน

1. อัตราการหมุนของสินค้าคงเหลือ (Inventory turnover) 
อัตราส่วนการหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือ หมายถึง จำนวนรอบ (Turnover) ที่สินค้าคงเหลือทำได้ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่สินค้าคงเหลือเข้ามาในกิจการและถูกจำหน่ายออกไป ถ้ากิจการไหน มีรอบการหมุนเวียนสินค้าคงเหลือมากใน 1 ปี ยิ่งแปลว่า สินค้าหมุนเวียนได้ดี

สูตรที่ใช้คำนวณมีตามนี้       

อัตราการหมุนของสินค้าคงเหลือ (Inventory turnover)  =  ต้นทุนขาย / สินค้าคงเหลือเฉลี่ย
ตัวอย่างเช่น บริษัท AAA มีสินค้าคงเหลือเฉลี่ยปี 2563 และ 2564 = 27,000 บาท และมีต้นทุนขายเฉลี่ย = 363,000 บาท  

อัตราการหมุนของสินค้าคงเหลือ (Inventory turnover)  = 363,000 / 27,000  = 13.44 รอบ

อัตราหมุนเวียนของสินค้าจำนวน 13.44 รอบนั้น แปลว่า ใน 1 ปี บริษัท AAA ซื้อสินค้ามาแล้วขายออกไปได้ทั้งหมด 13.44 รอบ นั่นเอง

ถ้าสมมติปีก่อนมีรอบการหมุนเวียนจำนวน 10 รอบ แปลว่า ปี 2564 บริษัท AAA ทำผลงานได้ดีขึ้น

2. ระยะเวลาการถือครองของสินค้าคงเหลือ (Day in Inventory) 
ระยะเวลาในการถือครองสินค้าคงเหลือ หมายถึง จำนวนวันที่เราถือสินค้าไว้กับมือโดยเฉลี่ย ตั้งแต่เริ่มซื้อวัตถุดิบเข้ามาจนกระทั่งขายของออกไป ว่าเราถือสินค้าเหล่านี้ไว้จำนวนทั้งหมดกี่วัน

ถ้ากิจการไหน มีจำนวนการถือครองสินค้าคงเหลือน้อย ๆ แปลว่า ดี เพราะนั่นหมายความว่าสินค้าในสต๊อกหมุนเวียนขายออกไปได้เร็วนั่นเอง

สูตรที่ใช้คำนวณมีตามนี้

ระยะเวลาการถือครองของสินค้าคงเหลือ (Day in Inventory)   = 365 Day / อัตราการหมุนของสินค้าคงเหลือ

ตัวอย่างเช่น จากข้อมูลเดิมของ บริษัท AAA เราเอามาคำนวณจำนวนวันที่ถือครองสินค้าได้ตามนี้

ระยะเวลาการถือครองของสินค้าคงเหลือ (Day in Inventory)   = 365 / 13.44  = 27.16 วัน

ระยะเวลาการถือครองสินค้าคงเหลือ 27.16 วัน หมายถึง โดยเฉลี่ยบริษัท AAA ต้องถือสินค้าไว้จำนวน 27.16 วันกว่าที่จะขายสินค้าได้ ถ้าสมมติในอดีตถือสินค้าไว้ 36 วัน ปัจจุบันจำนวนวันน้อยลงแปลว่า บริษัท AAA บริหารสินค้าได้ดียิ่งขึ้น

สามารถอ่านบทความน่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี่ คลิ๊ก!


Source (ต้นฉบับจาก): https://www.thaicpdathome.com/article/how-to-analyze-inventories
Copyright by ThaiCpdatHome.com
 1030
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

หากความสำคัญของงบดุล (Balance Sheet) คือแผนผังแสดงโครงสร้างหลักของกิจการ เพราะเป็นรายงานที่บ่งบอกถึงสภาพความมั่นคงเชิงเปรียบเทียบระหว่างสภาพสินทรัพย์และหนี้สิน งบกำไร/ขาดทุน (Income Statement) ก็คงเปรียบได้กับแผนผังเส้นเลือดของกิจการ เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงผลการดำเนินงานของกิจการทั้งหมดพร้อมแสดงออกมาในรูปกำไรหรือขาดทุนเพื่อบ่งบอกการเติบโตของกิจการ ซึ่งเป็นอีกรายงานทางการเงินที่สำคัญและมีประโยชน์อย่างมาก
ยื่นภาษีย้อนหลัง ต้องเตรียมเอกสารให้พร้อม เช็กเลยมีอะไรบ้าง
ธุรกิจสำนักงานบัญชีในประเทศไทย ส่วนมากจัดทำบัญชีและภาษีโดยนำเอกสารประกอบการจัดทำบัญชี มาจากลูกค้า มาบันทึกบัญชี และจัดเก็บเอกสารไว้ที่สำนักงานบัญชีของตนเอง พร้อมทั้งบริการนำส่งภาษีสรรพากรทุกประเภทให้ลูกค้า จากที่ผมทำธุรกิจสำนักงานบัญชีมายาวนานกว่า 20 ปี ทำให้เห็นปัญหาต่างๆ ที่เหมือนๆกันแทบทุกสำนักงาน ทั่วประเทศไทย
คณะกรรมการกำหนดแนวปฏิบัติทางการบัญชีและมาตรฐานการบัญชีสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของสมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ได้แก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ไทยได้ร่วมกันเผยแพร่ระบบบัญชีสำหรับธุรกิจขนาดย่อมโดยเน้นไปที่ธุรกิจที่มีขนาดเล็กมาก หรือ ธุรกิจขนาดจิ๋ว
ภาษีป้ายเป็นภาษีซึ่งองค์กรปกครองท้องถิ่นมีหน้าที่ในการจัดเก็บ  เพื่อหารายได้มาพัฒนาท้องถิ่นของตน  โดยจัดเก็บจากป้ายแสดงชื่อยี่ห้อ หรือเครื่องหมายการค้าของผู้ประกอบการเพื่อหารายได้ ไม่ว่าจะแสดงโฆษณาไว้ที่วัตถุใดๆ ด้วยอักษรภาพหรือเครื่องหมายที่เขียน แกะสลักจารึก หรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่นๆ 
ข้อเปรียบเทียบ ระหว่าง นิติบุคคลอาคารชุด กับ นิติบุคคล บริษัทฯ จำกัด มีข้อแตกต่างกันดังนี้

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์